“นึกถึงแบบทดสอบที่ให้คะแนน 1-10”
เมื่อได้ยินคำนี้แล้วผู้เขียนรู้สึก เอ๊ะ!! แต่เมื่อเงี่ยหูฟังต่อก็ได้คำตอบ
จากคำถามที่ว่า “คำว่า สุขภาวะ” ในความหมายหรือความเข้าใจของเราคืออะไร
นักศึกษาแพทย์หน้าใสคนนี้เล่าให้เพื่อนที่ได้จับคู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าว่า เวลาเปิดหนังสือ นิตยสาร จะมีคอลัมน์ตอบคำถามทายนิสัย หรือ Quiz Game แบบทดสอบที่มักจะมี Ranking 1-10 แล้วให้เราอ่านเฉลยหรือคำทำนาย
..
นอกเหนือไปจากจัดบูธกิจกรรมเป็นหนึ่งในสีสันของงานแล้ว ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของงาน ณ ห้องเฟื้อ ทิด – ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้จัดการโครงการ ชวนผู้เข้าร่วมพูดคุยถึงสุขภาวะ 5 ด้าน โดยการเร่ิมทบทวนคำว่า “สุขภาวะ” ของเรา คืออะไร โดยการชวนเพื่อนข้างๆ คุย
โดยสรุป หลายคนตอบไปในทิศทางคล้ายๆ กัน เช่น
“เพศ สุขภาพทุกด้าน กาย ใจ อารมณ์ สภาพแวดล้อม สังคม สติปัญญา”
“การงาน การใช้ชีวิตที่ดี”
ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ 5 ด้าน
หากเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ย่ิงต้องทำความเข้าใจและรู้จัก 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การรู้จักสังคม การรู้จักตัวเอง และการรู้ตัว
รู้จักสังคม ระบบ และวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคม เป็นตัวกำหนดความคิด ความเชื่อ ที่นำ ไป สู่การแสดงออกทางพฤติกรรมของคน การเรียนรู้เนื้อหาเรื่องระบบและวัฒนธรรมในสังคม จะ ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจว่า ตัวเขาเองและคนอื่นๆ ในสังคมถูกหล่อหลอมมาอย่างไร
ที่สำคัญคือ จะ ทำ ให้เกิดความเข้าใจปัญหาในระดับโครงสร้าง ที่ส่งผลต่อคนกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันไป ดังนั้น เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง ปัญหาสังคมทุกเรื่องจึงไม่ใช่ปัญหาพฤติกรรมส่วนตัว
การความเข้าใจ และเห็นใจปัจเจกและกลุ่มคนที่ได้รับการหล่อหลอมจากระบบและวัฒนธรรมขณะเดียวกันก็เห็น ความจำเป็นที่จะต้องทำ งานเพื่อเปลี่ยนระบบและวัฒนธรรมในสังคมไปพร้อมๆ กับการทำงานเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและกลุ่มด้วย
การเรียนรู้เรื่องอำนาจและวัฒนธรรมการใช้อำนาจ แบบต่างๆ ทั้งวัฒนธรรมอำนาจครอบงำ และวัฒนธรรมอำนาจร่วมวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ระบบเพศภาวะและเพศวิถีอัตลักษณ์ความเป็นชายขอบ และความเป็นกระแสหลัก ความรุนแรง เชิงโครงสร้าง และการสื่อสารสันติวิธี จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจระบบสังคมมากขึ้นด้วย
รู้จักตัวเอง อุปสรรคภายในของคนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่มักถูกมองข้าม คือ การมุ่งทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่ตนเอง หรือองค์กรต้องทำงานด้วย โดยใช้การศึกษาและวิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
แต่นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนไม่น้อย มักพุ่งเป้าการทำงานไปที่การเปลี่ยนแปลง“กลุ่มเป้าหมาย” ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือกลุ่ม คนชายขอบต่างๆ เจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือกลุ่มคนที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นในสังคมโดยมองข้ามปัญหาในตัวเองที่ควรได้รับการแก้ไข
รู้ตัว บางครั้งเราเรียกว่า การพัฒนาจิตวิญญาณ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาจิตใจ หรือการฝึกสติที่จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ความทุกข์ของเรา ลดน้อยลงได้
เพราะการรู้ตัวทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมเดิมๆ ที่เคย มาสู่เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุแห่งทุกข์ได้
(อวยพร เขื่อนแก้ว: เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลง เพศและความเป็นธรรมบนฐานจิตวิญญาณ และการเรียนรู้ด้วยหัวใจ, 2555)
จากข้อเขียนของ อวยพร เขื่อนแก้ว กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “5 มิติของความเป็นอยู่ที่ดี” หรือ การมีสุขภาะที่ดี 5 ด้าน เป็นกรอบแนวคิดที่ครอบคลุมในการทำความเข้าใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวมของบุคคล มิติเหล่านี้ครอบคลุมหลายด้านของชีวิตมนุษย์ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี ดังนี้:
1. ความเป็นอยู่ที่ดีทางกายภาพ (Physical wellbeing) มิตินี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสภาพร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โภชนาการที่สมดุล การนอนหลับเพียงพอ และการรักษาวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการความเครียดและการเจ็บป่วย รวมถึงการขอรับบริการทางการแพทย์เมื่อจำเป็น ความเป็นอยู่ที่ดีทางกายภาพเป็นพื้นฐานสำคัญเนื่องจากส่งผลต่อระดับพลังงาน อารมณ์ และความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
2. ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ (Emotional wellbeing) ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ การรับมือกับความเครียด และการรักษามุมมองเชิงบวกในชีวิต รวมถึงการมีความตระหนักในตนเอง ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์มีผลต่อการมองตนเองและคนรอบข้าง และมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิตโดยรวม
3. ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม (Social and relationship wellbeing) มิตินี้เน้นคุณภาพของความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งครอบครัว เพื่อน และชุมชนที่กว้างขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมเน้นการเชื่อมต่อกับผู้อื่น ระบบสนับสนุน และความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายและสร้างความพึงพอใจในด้านสังคม รวมถึงการมีส่วนร่วมในสังคมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับ
4. ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญา (Intelligent wellbeing) ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การคิดสร้างสรรค์ และการกระตุ้นทางจิตใจ รวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และความอยากรู้ ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญาจะได้รับการเสริมสร้างโดยการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ การยอมรับความท้าทาย และการเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ มิตินี้ช่วยให้บุคคลพัฒนาและปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
5. ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ (Spiritual wellbeing) ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ หมายถึง การมีเป้าหมายและความหมายในชีวิต ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับศาสนาแต่เกี่ยวข้องกับการมีค่านิยม ความเชื่อ และหลักการที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต มิตินี้อาจรวมถึงการสะท้อนตนเอง การฝึกสติ และการเชื่อมต่อกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านทางศาสนา ปรัชญา ธรรมชาติ หรือการปฏิบัติทางจิตวิญญาณอื่น ๆ ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณมักช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความสงบในใจ
การรวมกันของทั้ง 5 มิตินี้สร้างภาพรวมของความเป็นอยู่ที่ดีอย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าสุขภาพที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สุขภาพทางกาย แต่ยังครอบคลุมด้านอารมณ์ สังคม ปัญญา และจิตวิญญาณอีกด้วย
แนวคิดเรื่อง “มิติของความเป็นอยู่ที่ดี” หรือ “สุขภาวะที่ดี” มาจากการวิจัยสหวิทยาการ ทั้งในด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา และสาธารณสุข มีการพัฒนารูปแบบต่างๆ ขึ้นเพื่อแสดงถึงด้านต่างๆ ของความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยแต่ละรูปแบบเน้นที่มุมมองแบบองค์รวมของสุขภาพและคุณภาพชีวิต
กระบวนการที่ช่วยทำความเข้าใจในสุขภาวะ 5 ด้าน
โดย ทฤษฎี สว่างย่ิง
ทุกคนยืนเรียงแถวกระดาน และมองไปที่กระดาน (flip chart) หากข้อใดที่ตรงกับสภาวะของเรา ให้ทุกคนก้าวออกมาข้างหน้า
“ฉันรู้สึกว่าร่างกายแข็งแรง มีพลังทำงานหรือกิจกรรมได้ทั้งวัน”
“ฉันออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารครบหมู่”
“ฉันนอนหลับเพียงพอ และควบคุมร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“ฉันสมารถรับมือกับความเครียด และจัดการอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“ฉันรู้สึกดีกับตัวเอง และมีเป้าหมายในชีวิต”
“ฉันสามารถฟื้นตัวกับอุปสรรคและฟื้นตัวได้โดยไม่กดดดัน”
“ฉันมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และได้รับการสนับสนุนกับครอบครัว เพื่อน และคนอื่นๆ ในสังคม”
“ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับสังคมที่ฉันอยู่”
“ฉันแสวงหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ และกิจกรรมที่สร้างสรรค์”
“ฉันมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมที่มีความหมายและสบายใจที่ได้มีส่วนร่วม”
“ฉันแสวงหาโอกาสร่วมกิจกรรมทางสังคมเสมอ”
“ฉันรู้สึกมีแรงกระตุ้นกับงาน และกิจกรรมที่ทำอยู่”
“ฉันหาโอกาสการเรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ”
“ฉันรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย เป้าหมาย ที่ชี้นำการดำเนินชีวิต”
“ฉันรู้สึกเชื่อมโยงกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กับตัวเอง และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ”
“ฉันรู้สึกสงบสุข เชื่อมัน และใตร่ตรองอยู่เสมอว่าสิ่งใดทำให้ชีวิตฉันมีความหมาย”
เมื่อได้ทดลองด้วยตนเอง แต่ละคนร่วมสะท้อนสิ่งที่ตนเองมองโดยสรุป ดังนี้
“ได้ทบทวนว่าเราโอเค แต่เมื่อฟังแล้วก้ไม่ได้โอเคอย่างที่เราคิด”
“ที่ผ่านมาเราทำอยุ่ไหม อะไรเราขาดไป ได้ทบทวนว่าสุขภาวะด้านไหนของเราดีอยู่แล้ วและส่วนด้านไหนที่ยังไม่ดี และคววรที่จะมีวิธีการไหนบ้างที่ทำให้ดีขึ้น”
“มุมมองใหม่ด้านสังคม การใชัชีวิต เช่น น้องอยู่ในสังคมโรงงาน มีคนเยอะ แต่คนรอบข้างไม่สุงสิงกัน แต่สังคมเพื่อน มันต่างกัน และเมื่อแแลกเปลี่ยนกัน ก็ทำให้มุมมองของเราก็กว้างขึ้น”
“มุมมองใหม่ๆ ที่ทำอยู่ และมีความสุข และอะไรที่ทำให้เขามีความสุขได้”
“เมื่อได้คุยกับน้องๆ ดูเหมือนเราทำงานด้าน well being แต่เราอาจลืมมองตัวเอง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และเราควรจะดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ก็ทำให้เราฉุกคิด ว่าเราจะทำอย่างไรต่อ หากอยากจะ well being ด้านนี้มากขึ้น เพราะเราไม่ทำมันเอง”
“มันเป็นคำถามที่ให้เราคิดว่าประเด็นนี้ เรามีไหม เกิดไหม และมีคำถามต่อว่า range มันขนาดไหน เพราะบางอย่างมันต่างกัน ไม่เพียงคำตอบว่าใช่ ไม่ใช่ และได้มามองตัวเองในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ อย่าง นศ.แพทย์ ด้านร่างกาย เรามีปัญหา เพราไม่ค่อยได้นอน”
“ทำให้รู้ว่าเรามีสุขภาพไม่ดี แย่หลายๆ ด้าน ต้องกลับมามอง และรักตัวเองให้มากขึ้นแล้ว”
“ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จะใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น เพื่อครอบครัว และตัวเองอาจจะไม่ได้โฟกัสที่ตัวเองเท่าที่ควร และรักตัวเองให้มากกว่านี้”
“มองว่าตัวเองไม่ได้ดูแลสุขภาพกายมากนัก ยิ่งเมื่อมาเห็นตัวเองตอนที่ทำงาน (life tiktok) แล้วเห็นตัวเองแล้วยิ่งรู้สึกมาก”
“มิติด้านเพศ ความคิด ความเชื่อด้านเพศ ที่มี 2 เพศ กระทบกับสุขภาวะของเราอย่างไร ความคิด ความเชื่อเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขภาะของเราไหม อย่างไร”
“ครอบครัวส่งผลต่อเรา เราพิสูจน์ตัวเองกับแม่ เขาอยากให้เรามีลูก เราต้องเรียนเก่ง ทำงานให้เก่งว่าหากไม่แต่งงาน ก็ดูแลตัวเองได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ยอมรับ”
“เรามีเพื่อนเป็นทอม ทรานส์ เยอะ เมื่อเดินเข้าห้องน้ำ ก็มีผู้หญิงที่ใช้สายตา คำพูด แรงๆ ที่กระทบจิตใจ และกระทบทั้ง 5 ด้าน หลายคนอยากจะเปลี่ยนร่างกาย เจอแบบนี้ก็กระทบ ยิ่ง down ลง ไม่อยากจะไปเจอแบบนี้อีก
“ครอบครัวค่อนข้างโดนย้ำว่า การที่เราเป็น lbtq แม่ไม่อยากให้เป็น บอกว่าเป็นบาป และหล่อหลอมชีวิตเราที่ทำให้เรารุ้สึกแย่ โดยเฉพาะสุขภาพจิตที่ down ไม่ได้ดูแลสุขภาพ จนหลายคนช่วยให้เราฟื้นขึ้นมาได้ โดยเฉพาะด้านสังคม”
มิติ กาย ใจ สังคม มาสู่ มิติทางปัญญา และจิตวิญญาน
หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับมิติทางจิตวิญญาน ว่าเราจะสามารถนำตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในได้อย่างไรบ้าง
คำอธิบายจาก อวยพร เขื่อนแก้ว กล่าวว่า เราต้องกลับมาทำความเข้าใจตนเอง ด้วยการ
1 ใช้ปัญญาจากความเข้าใจทางความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมและสตรีนิยม จากการฟังประสบการณ์และปัญญาของกลุ่มชายขอบ) และการใช้อริยสัจ 4 ในการอธิบายความรุนแรงที่ต้องเจอ แยกแยะระหว่างความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและความทุกข์ที่เกิด จากการกดขี่ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้หญิงเข้าใจว่าความอยุติธรรมเป็นเรื่องธรรมชาติไปแล้ว พวกเธอจึงต้องได้ เรียนรู้ความหมายของกรรมที่ถูกต้อง และมีวิธีการออกจากทุกข์ (ในหลักพุทธ คือ ทุกข์ ปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจ สมุทัย สาเหตุของปัญหา นิโรธ เป้าหมายของการดับทุกข์)
2 การภาวนา เพื่อฝึกสมาธิและแผ่ เมตตา เพื่อทำให้มีสติไว้ใช้ในยามเผชิญปัญหา
การภาวนาไม่จำกัดรูปแบบเพียงการนั่งสมาธิ แต่รวมถึง การฝึกสติในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การล้างจาน ทำงานบ้าน ในระหว่างการฟังกันและกัน
3 การฝึกความเมตตากรุณา ที่จะเข้าใจว่าผู้กระทำก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างสังคมแบบนี้ด้วย เหมือนกัน เป็นการเข้าใจและเห็นใจกัน
(อวยพร เขื่อนแก้ว. ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทองประจำปี2551 ครั้งที่ 34: “วิถีทางจิตวิญญาณสู่ การทำงานเพื่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2552)
เมื่อเป็นดังนี้ การที่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ในระหว่างการนวดแป้ง ทำขนมปังจึงถือว่าเป็นการฝึกสติ สมาธิ ที่จะนำไปสู่มิติทางจิตวิญญานได้ในทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ เช่น การเรียนหนังสือ การทำงาน การใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์กับจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เป็นการฝึกจิตขั้นแรกๆ ที่เราสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ให้รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน หรือหากรู้ตัวก็ดึงตนเองเข้ามาอยู่กับกิจกรรมนั้นๆ ที่ทำอยู่
หากผู้อ่านท่านใดสนใจในการฝึกฝน เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/ouyporn.khuankaew และทางช่องทาง https://www.facebook.com/LBTWellbeing/