ทำความเข้าใจเรื่อง “การเลือกปฏิบัติ”

การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีอคติบนแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ (identity) นำมาซึ่งความแตกแยก ความเกลียดชัง และแม้กระทั่งการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเพียงเพราะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน 
อคติเหล่านี้นำมาซึ่งการกำหนด กฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ถือเป็นการหล่อเลี้ยงความไม่เท่าเทียมกันคงอยู่ในสังคมไปเรื่อยๆ อาทิ เพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา อายุ และความพิการ เป็นต้น
ทำความเข้าใจเรื่อง “การเลือกปฏิบัติ”

รูปแบบ “การเลือกปฏิบัติ”  ในที่นี้จะแบ่งเป็น 3  ลักษณะ คือ

 

การเลือกปฏิบัติโดยตรง  คือ การปฏิบัติที่แยกความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มคน ทำให้คนบางกลุ่มใช้สิทธิของตนได้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น หรือการรับสมัครงานเข้าทำงาน โดยระบุคุณสมบัติเฉพาะหรือข้อห้ามสำหรับคนบางกลุ่มในการสมัคร โดยอ้างเหตุผลต่างๆ เรื่องอายุ เพศ ฯลฯ

 

การเลือกปฏบัติโดยอ้อม   เกิดจากการออกกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือนโยบายใดๆ ที่ตั้งใจจะบังคับใช้ต่อทุกคนในองค์กรอย่างเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับทำให้บุคคลบางกลุ่ม เสียประโยชน์หรือเสียเปรียบ

 

การเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน   คือ เมื่อรูปแบบการเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น เช่น การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงส่งผลให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายในงานเดียวกัน หรือการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ทำให้คนกลุ่มนี้ได้ค่าจ้างน้อยกว่ากลุ่มคนอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ผู้หญิงที่มาจากชนกลุ่มน้อยก็จะได้เงินค้าจ้างน้อยกว่าชายชนกลุ่มน้อยด้วยกัน และจากผู้หญิงด้วยกันอีกชั้นหนึ่ง

ทำอย่างไรจึงจะลด “การเลือกปฏิบัติ”

 

การลดการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ถือว่าเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งต้องทำทั้งระดับบุคคล และระดับสังคม ดังนี้

 

ศึกษาและการเข้าใจความหลากหลาย – การเพิ่มความเข้าใจต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ศาสนา, และมุมมองชีวิตจากกลุ่มคนที่ต่างกันสามารถช่วยลดการเลือกปฏิบัติที่มีต่อบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

 

  การสื่อสารและการพูดคุย – สร้างพื้นที่ในการสนทนาร่วมกัน เพื่อเข้าใจความคิด และมุมมองต่าง ๆ ของคนในสังคม เพิ่มการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายให้ครอบคลุมและรอบด้าน   

 

กำหนดนโยบายที่เป็นธรรม  นโยบาย และกฎหมายที่เป็นธรรม จะช่วยลดการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มชายขอบได้

 

ดังนั้น ภาครัฐ และองค์กที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียม และให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ อีกทั้งการให้การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องการเลือกปฏิบัติก็มีความสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริม เคารพ และ เข้าใจในหลากหลายวัฒนธรรมและความแตกต่างในสังคมอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพราะการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่แบ่งแยก  ต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้และการเข้าใจและเต็มใจจากทุกคนในสังคม

 

ตัวอย่างดังกล่าว เป็นจุดเร่ิมต้นของการลดการเลือกปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในสังคม  อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเรื่องการเลือกปฏิบัติ  จะช่วยให้เราได้ทบทวนทัศนคติของตนเอง และสร้างความตระหนักรู้ร่วมของสังคมต่อการไม่เลือกปฏิบัติ และขจัดการเลือกปฏิบัติให้น้อยลงหรือหมดไปในที่สุด

 

ข้อมูลจาก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

sdgmove.com

เกี่ยวกับโครงการ