แต่ละครอบครัวนั้นมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แตกต่างกัน การจะ come out ได้ ต้องพิจารณากันในหลายๆ ด้าน การตอบรับที่แตกต่างกันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด คนในครอบครัวแต่ละคนนั้นได้รับการหล่อหลอมและมีกรอบคิดเรื่องเพศที่ไม่เหมือนกัน
“ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนหรือวิถีทางเพศกับครอบครัว”
“เมื่อเปิดเผยแล้ว ถูกปฏิเสธจากครอบครัว”
“การหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “แฟน” จากคนในครอบครัว โดยใช้คำว่า “เพื่อน” เข้ามาแทนที่
การไม่ยอมรับความสัมพันธ์แบบคนรักของคนในครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์ไม่มั่นคง ไม่สบายใจ
นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงในการสร้างความสัมพันธ์
ข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะของกลุ่ม LBT กล่าวถึงสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางสังคม ของ Lesbian, Bisexual, Transgender, Tomboy ว่า การเปิดเผยตัวตนหรือบอกวิถีทางเพศกับครอบครัวนั้นเป็นเรื่องยาก และส่งผลกระทบต่อหลายๆ เรื่องในชีวิต อีกทั้งเมื่อเปิดเผยแล้วจะต้องเจอสถานการณ์หลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อสมาชิกในครอบครัวจะ come out ครอบครัวจะตอบรับแบบไหนบ้าง
1. ครอบครัวที่ยอมรับ (Accepting families)
พ่อแม่ยอมรับได้ในทันทีที่ลูกเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าลูกมีแนวโน้มเช่นนั้น แต่อาจมีความลังเลอยู่บ้างว่าจะถามตรง ๆ หรือควรรอให้ลูกมาบอกด้วยตนเอง
2. ครอบครัวที่ลังเล (Ambivalent families)
พ่อแม่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าลูกจะมีความหลากหลายทางเพศ จึงไม่มีการเตรียมพร้อมมาก่อน การตอบกลับของพ่อแม่มีลักษณะผสมเช่น ปิดบังความจริงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของลูกกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท กังวลเกี่ยวกับศาสนา สุขภาวะ และโกรธหรือผิดหวัง โดยมากมักแสดงปฏิกิริยาด้านลบต่อลูก แต่ยังมีการปรับตัวและประนีประนอม ยอมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของลูก
3. ครอบครัวที่ปฏิเสธ (Rejecting families)
พ่อแม่ปฏิเสธลูกตนเองทันทีที่รู้อัตลักษณ์ทางเพศของลูก ปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรง บังคับให้ลูกออกจากบ้าน อาจเป็นครอบครัวที่ยึดมั่นในศาสนาอย่างเคร่งครัดจึงไม่สามารถยอมรับได้ ครอบครัวลักษณะนี้นอกจากไม่มีความยืดหยุ่นทางความคิดหรือทักษะการเผชิญปัญหาเพื่อปรับระบบความเชื่อของตนเอง ยังพยายามแยกตัวและเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศน้อยมาก
โดยส่วนใหญ่คนที่ตัดสินใจ come out ต่างก็คาดหวังให้ครอบครัวยอมรับ
การยอมรับของครอบครัวนั้นก็ด้วยการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น การบอกรัก การแสดงออกถึงความห่วงใย การพูดจาไถ่ถามให้รับรู้ถึงการสนับสนุน จะช่วยนำไปสู่พัฒนาการทางเพศในทางบวก เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ หรือผลของสุขภาพทางลบ อาทิ ความซึมเศร้า การใช้สารเสพติด และความคิดฆ่าตัวตาย ที่อาจเกิดขึ้น การยอมรับจากครอบครัวยังสัมพันธ์กับผลของสุขภาพทางบวก เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และสุขภาพทั่วไปอีกด้วย
ส่วนครอบครัวที่ปฏิเสธจะมีระดับปัญหาที่รุนแรง อารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวมักเป็นไปในทางลบ ลักษณะอารมณ์คล้ายกับผู้ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศก็รู้สึกกับตัวเอง เช่น โกรธ ปฏิเสธความจริง เสียใจ เจ็บปวด อับอาย ผิดหวัง ตกใจ ผลที่ตามมาจากอารมณ์ทางลบคือ พฤติกรรมที่แสดงออกไปในทิศทางเดียวกับอารมณ์ เช่น การพาลูกหรือแนะนำให้ลูกไปหาหมอรักษา พูดจาส่อเสียดประชดประชัน ไล่ออกจากบ้าน เพิกเฉยเย็นชา
ดังนั้น ก่อนที่เราจะ come out เราคงต้องดูความเป็นไปได้ให้รอบด้านเสียก่อน เพราะสำหรับบางคนแล้ว การไม่ come out กับครอบครัว อาจจะทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า บางครั้งการอยู่ในความคลุมเครือก็ช่วยรักษาความสัมพันธ์และรักษาระยะห่างระหว่างกันในครอบครัวได้ แต่หากเห็นว่าเป็นความอึดอัดและอยากจะบอกออกไปก็ต้องหาจังหวะ โอกาส รวมทั้งค่อยๆ ให้ครอบครัวได้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียบเรียงจากข้อมูล :
– https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/comingout
– ดาราณี ทองศิริ, รายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT, โครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับกลุ่ม Lesbian (หญิงรักหญิง) Bisexual (หญิงรักได้ทั้งสองเพศ) และ Transgender (บุคคลข้ามเพศ)” เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)