จะดีต่อใจเราแค่ไหน : ถ้านี่เป็นเรื่องที่หมอ พยาบาล ได้เรียนรู้

จะดีต่อใจเราแค่ไหน : ถ้านี่เป็นเรื่องที่หมอ พยาบาล ได้เรียนรู้

จะดีต่อใจเราแค่ไหน : ถ้านี่เป็นเรื่องที่หมอ พยาบาล ได้เรียนรู้  สิ่งที่เราคิดในใจ 

 

“ตอนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หมอถามว่ามีเพศสัมพันธ์มารึเปล่า เรารู้ว่าตรวจโรคนี้ก็ต้องถาม แต่พอบอกว่ามีแฟนเป็นผู้หญิง หมอก็พูดเสียงดังว่า อันนั้นไม่เรียกว่ามีเพศสัมพันธ์ เราไม่ได้ต้องการความเห็นเรื่องนี้  ทำไมหมอไม่ถามว่าเรากลั้นฉี่บ่อยไหม กินน้ำพอรึเปล่า พอเราเจอแบบนี้เวลาเจ็บป่วยก็ไม่อยากไปหาหมอ”  

ทุกคนอาจจะนึกในใจว่า 

 

หลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ทั้งการแสดงท่าทีและคำพูดของหมอ พยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลบางแห่งก็ใช้ท่าทีไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพความแตกต่างหลากหลาย การไปพบหมอ พบพยาบาล ยามเจ็บป่วย จึงมักต่อด้วยเสียงบ่นว่า “ไม่อยากไปหาหมอ”

 

ข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะของ Lesbian, Bisexual, Transgender, Tomboy กล่าวถึงการเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพว่า มักเจอการตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยแต่จะถามเรื่องเพศ แสดงความคิดเห็นเรื่องความเป็นเพศ การใช้คำพูดหรือคำถามที่ไม่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้รับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกถูกตีตรา ไม่ปลอดภัย และไม่ต้องการเข้ารับการรักษาต่อ

 

นอกจากนี้หลายคนยังยอมรับว่าไม่ต้องการไปรับบริการตรวจภายใน แม้จะอยากไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากความกังวล ความรู้สึกอายในเรื่องของเนื้อตัวร่างกาย และบางคนที่เคยเข้ารับการตรวจก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการเข้ารับบริการตรวจภายในที่ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนไข้ 

  

ดังนั้น หากผู้ให้บริการด้านสุขภาพ หมอ พยาบาล หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้เรื่องของการให้บริการด้านสุขภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ  ก็จะส่งผลดีต่อการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ และอาจทำให้คนกลุ่มนี้ก้าวข้ามความกังวล ความกลัว ความอาย และความรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะได้รับการเอาใจใส่ที่ดีต่อใจมากพอ

 

 ทำไมผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงควรเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ

  ทำไมผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงควรเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ

เพื่อให้เข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ หรือเป็นอาการทางจิตแต่อย่างใด เมื่อเข้าใจจะช่วยลดอคติทางเพศที่มักทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ  อีกทั้งมีส่วนช่วยให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพมีท่าทีที่เป็นมิตรโดยธรรมชาติ อันเกิดจากการมีความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ

 

จะดีต่อใจเราแค่ไหน : ถ้านี่เป็นเรื่องที่หมอ พยาบาล ได้เรียนรู้

สิ่งที่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพควรทำความเข้าใจมีอะไรบ้าง

 

 1. อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)

หมายถึงเพศที่บุคคลรับรู้โดยธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อในสังคมใดๆ เป็นการรับรู้ภายในของตัวปัจเจกบุคคล เช่น การรับรู้ว่าเราเป็นหญิง หรือเป็นชาย หรือไม่เป็นหญิงหรือชาย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  แม้อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลอาจต่างจากเพศกำเนิด และอาจมีความลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่เสมอไป

เนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องของการรับรู้ภายในของปัจเจกบุคคล ผู้ให้บริการด้านสุขภาพพึงเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศของผู้รับบริการ และยอมรับโดยไม่ตั้งคำถามหรือตัดสินใดๆ

 

2. การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression)

คือการแสดงออกทางท่าที, คำพูด, อากับปกิริยา และการแต่งกายภายนอกที่เป็นไปตามความต้องการโดยธรรมชาติของปัจเจกบุคคล  การแสดงออกทางเพศไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ,เพศกำเนิด และความคาดหวังจากสังคมเสมอไป เนื่องจากเป็นวิถีโดยธรรมชาติของตัวปัจเจกบุคคล การแสดงออกทางเพศสามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

เนื่องจากการกำหนดบทบาทและการแสดงออกของเพศชายและหญิงถูกหล่อหลอมจากสังคม วัฒนธรรม เช่น ผู้ชายควรแสดงออกถึงความเข้มแข็ง ไม่ควรร้องไห้ ผู้หญิงควรแสดงออกถึงความอ่อนหวาน เรียบร้อย ซึ่งมาจากการมองโลกว่ามีเพียงคนแค่สองเพศ หรือค่านิยมบางสังคมที่ให้ความสำคัญกับเพศชายเป็นใหญ่  บางครั้งการแสดงออกที่ต่างไปจากสิ่งที่สังคมคาดหวังจึงเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจเจกบุคคลมีอิสระในการแสดงออกทางเพศอย่างชอบธรรมตามวิถีของตนเอง

 

3. เพศกำเนิด (Anatomical Sex)

ในทางชีวะวิทยาที่ยึดจากการวินิจฉัยทางการแพทย์ในวันที่บุคคลถือกำเนิด ซึ่งเพศกำเนิดนั้นไม่ใช่ตัวชี้วัดอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศของแต่ละบุคคล โดยเพศกำเนิดนั้นจะมี 3 ลักษณะ คือ เพศหญิง, เพศชาย, และบุคคลที่มีลักษณะทางสรีระทั้งสองเพศ (Intersex)

 

4. รสนิยมหรือความดึงดูดทางเพศ (Sexual Orientation or Attraction)

รสนิยมหรือความรู้สึกดึงดูดทางเพศ ซึ่งคนคนหนึ่งสามารถมีรสนิยมหรือความรู้สึกดึงดูดทางเพศได้ทั้งต่อคนเพศเดียวกัน, คนต่างเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น หญิงข้ามเพศอาจจะเป็นคู่กับหญิงข้ามเพศด้วยกัน หรือชายข้ามเพศอาจมีคู่เป็นชายเพศกำเนิด 

 

รสนิยมทางเพศนั้นนอกจากจะหมายถึงความรู้สึกดึงดูดที่ทำให้ต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยแล้ว (sexual  attraction) ยังหมายถึงความรู้สึกดึงดูดทางจิตใจเพียงอย่างเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีกิจกรรมทางเพศ (romantic  attraction) ก็เป็นได้ หรืออาจจะหมายถึงทั้งสองอย่างรวมกัน และยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่มีรสนิยมหรือแรงดึงดูดทางเพศกับเพศใดๆ 

 ดังนั้นรสนิยมทางเพศมีความแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของปัจเจกบุคคล ไม่ตายตัวว่าคนเพศไหนต้องมีความรู้สึกดึงดูดใจคนเพศไหนโดยเฉพาะ ไม่มีกฎตายตัว มีความลื่นไหล และถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

 

ในทางการแพทย์นั้น สมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้มีการถอดถอนการรักเพศเดียวกันออกจากการมีอาการผิดปกติทางจิต ตั้งแต่ปี 1973 (พ.ศ.2516) และองค์การอนามัยโลกก็ประกาศแล้วในปี 1990 (พ.ศ.2533) ว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่อาการผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด  การรักเพศเดียวกันนั้นได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่อาการป่วยทางจิต  แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของปัจเจกบุคคล


นอกจากนี้ในสังคมยังมีความเข้าใจผิด และเหมารวมเกี่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในอีกหลายเรื่อง เช่น มองว่าบางอัตลักษณ์มักเป็นคนตลก  คนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนฝักใฝ่ในเรื่องเพศ  คนหลากหลายทางเพศมีความสามารถในเรื่อง ความสวยความงาม ชอบแสดงออกหรือมีความสามารถทางการแสดง บางคนมองว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางใดทางหนึ่ง มากกว่าคนทั่วไป ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของความสามารถ ทักษะ หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันไป ไม่ได้มีความพิเศษกว่าประชากรทั่วไปในสังคม 

 

 

 

หมอ พยาบาล ผู้ให้บริการด้านสุขภาพนั้นเป็นกลุ่มคนที่ให้การดูแลสุขภาพคนทุกเพศ การมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะทำให้สามารถแสดงออกต่อผู้มารับบริการได้อย่างเหมาะสม และเอาใจใส่ในอาการเจ็บป่วยเหมือนกับผู้เข้ารับบริการด้านสุขภาพทั่วไป

 

ข้อมูลจาก :

– คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

– รายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT  ศึกษาวิจัยโดย ดาราณี ทองศิริ  ภายใต้  โครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับกลุ่ม Lesbian (หญิงรักหญิง) Bisexual (หญิงรักได้ทั้งสองเพศ) และ Transgender (บุคคลข้ามเพศ)” โดย เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON)  สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)