เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน (Self Care)

การดูแลตัวเอง – Self care  เป็นพฤติกรรมการดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งภายนอกและภายใน คนที่รู้จักรักตัวเอง (Self-love) รู้ว่าตัวเองคุณค่ามีความหมายก็จะมีความพยายามในการดูแลตัวเองในด้านต่างๆ

การดูแลตัวเองนั้นเป็นความรับผิดชอบของตัวเราเองโดยตรง  แม้หลายเรื่องจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น  แต่การเริ่มต้นลงมือทำบางอย่างของเราก็จะส่งผลต่อตัวเราเองเช่นกัน

 

 

มาลองดูกันว่า เราดูแลตัวเองในแต่ละด้านได้ดีแค่ไหน  ถ้าให้คะแนน 1-10 ในแต่ละข้อแต่ละเรื่อง เราอยู่ระดับไหน 

 

ถ้าคะแนนของเราในเรื่องนั้นน้อยไป  เราจะได้หาทางปรับให้ดีขึ้น

 

 

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

1. การดูแลตนเองด้านร่างกาย หรือ Physical Self-Care

 กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ เน้นเสริมสร้างสุขภาพมากกว่าการรักษา หมั่นสังเกตร่างกายตัวเองว่าเรายังแข็งแรงอยู่หรือเปล่า

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

2. การดูแลสุขภาพทางอารมณ์  หรือ Emotional Self-Care 

 สังเกตและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองทำกิจกรรมที่พัฒนาอารมณ์ในเชิงบวกผ่อนคลายไม่เครียดฝึกให้มีความมั่นคงทางอารมณ์

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

3. การพัฒนาและดูแลสุขภาวะทางปัญญา หรือ Intellectual Self-Care

การทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิด การอ่าน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นการเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาที่ดี

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

4. การดูแลความสัมพันธ์กับคนผู้อื่น หรือ Social Self-Careการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีมักเกี่ยวข้องกับทักษะของการสื่อสาร ทักษะการฟัง การเข้าใจตัวเองและผู้อื่น การสร้างสังคมที่ปลอดภัย ไว้ใจ อบอุ่น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลตัวเอง

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

5. การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ หรือ Spiritual Self-Care

การทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการมองโลกการดูแลจิตใจให้สงบมีสมาธิมีความมั่นคงภายใน

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

6. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ หรือ Environmental Self-Care

การดูแลตัวเองให้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติการจัดพื้นที่การทำงานหรือที่พักให้รู้สึกน่าอยู่การใช้ชีวิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมหรือทำลายทรัพยากรทำร้ายธรรมชาติก็จะส่งผลย้อนกลับมาให้เราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน - Self Care

7. การดูแลสุขภาพทางการเงิน หรือ Financial Self-Care

การจัดการ วางแผนด้านการเงิน บริหารการเงินของตนเองให้ได้ ลดความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงได้

ข้อมูลจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ)  รวบรวมเคล็ดลับการดูแลตัวเอง 10  ข้อ ดังนี้  

 

     1. ออกกำลังกายสัปดาห์ละอย่างน้อย 150 นาที โดยแบ่งอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที

 

     2. ทำงานไม่เกินวันละ 12 ชั่วโมงและนอนหลับให้เพียงพอ

 

     3. งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา งดสิ่งเสพติดและของมึนเมาทุกชนิด

 

     4. คาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกนิรภัย ขณะขับขี่/ โดยสารพาหนะ

 

     5. ควบคุมดัชนีมวลกาย (BMI) ให้ได้ประมาณ 18.5-23 kg/m2 และเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 ซม. (35.5 นิ้ว)ในชาย และ 80 ซม. (31.5 นิ้ว) ในหญิง

 

     6. หลีกเลี่ยงบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ รวมทั้งอาหารที่ถนอมด้วยดินประสิว (เช่น ปลาร้า ไส้กรอก) และไขมันชนิดทรานส์ (เช่น เบเกอรี่ที่ทำจากมาการีน เนยขาว ครีมเทียม อาหารทอด) และลดอาหารหวาน มันและรสเค็ม

 

     7. บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยมีผักผลไม้ไม่น้อยกว่า 400 กรัมต่อวัน โดยมีสัดส่วนจากพลังงานทั้งหมดที่ได้รับ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน 55%, โปรตีน 15% และไขมัน 30% (แบ่งเป็นไขมันอิ่มตัว 7-10% ไขมันไม่อิ่มตัว 13-20%) หากบริโภคลดลง 500-1,000 แคลอรี่ต่อวัน จะลดน้ำหนักได้ ½-1 กิโลกรัม/ สัปดาห์

 

     8. หมั่นตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยงที่มีผลเสียต่อสุขภาพและพยายามลดความเสี่ยงที่แก้ไขได้ อันได้แก่ อ้วน ออกกำลังกายไม่พอ หรือมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ

 

     9. มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย

 

     10. มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ดำรงชีวิตอย่างมีสติ มีจิตใจร่าเริงเบิกบาน และมองโลกในแง่ดี

เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน (Self Care) นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสังคมก็มีส่วนสำคัญ

นอกจากนี้ เว๊บไซด์พบแพทย์ กล่าวถึงการดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ (Mental And Emotional Self-Care)  ได้แก่

– ฝึกฝนมุมมองเชิงบวกที่มีต่อตัวเอง เช่น รักตัวเอง เมตตาต่อตัวเอง (Self Compassion) และให้เวลาตัวเองหยุดพัก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของงานหรือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

– รู้จักปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ และจัดการกับความเครียดด้วยกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น แช่น้ำอุ่น เล่นโยคะ นวดคลายเส้น หรือใช้เวลาพักผ่อนกับเพื่อนและครอบครัว

ทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะต่าง ๆ เช่น เล่นเกมทายปริศนา และอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์ที่ให้แรงบันดาลใจ

ในส่วนของการการดูแลจิตวิญญาณ (Spiritual Self-Care) คือการดูแลตัวเองจากภายใน โดยอาจเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อทางศาสนา เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ตัวเองนับถือ สวดมนต์ และนั่งสมาธิ 

บางคนอาจเลือกทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เช่น การจดบันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน การฝึกความเมตตาต่อตัวเองและผู้อื่น การใช้เวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ

นอกจากนี้ การดูแลสุขภาวะทางสังคม (Social Self-Care) เป็นสิ่งสำคัญ คือ การมีปฏิสัมสัมพันธ์กับคนรอบข้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแต่บ่อยครั้งที่เรามักยุ่งอยู่กับงานและเรื่องส่วนตัวจนหลงลืมการใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก เช่น คนในครอบครัวและเพื่อนสนิท 

ลองหาเวลาทำกิจกรรมในครอบครัว หรือนัดเจอเพื่อนบ้าง หรือหากไม่สามารถเจอกันได้อาจพูดคุยกันทางโทรศัพท์หรือส่งข้อความหากัน ก็จะช่วยลดความเหงาและความเครียด เพิ่มความสุข และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำได้อีกด้วย

การดูแลตัวเองเป็นวิธีการใส่ใจตัวเองที่สามารถทำได้ทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการเจ็บป่วยแล้วจึงเริ่มดูแลตัวเอง ทั้งนี้ แต่ละคนมีวิธีดูแลตัวเองต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสะดวกและกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจตามความต้องการของแต่ละคน