ยิ้มให้ แต่ไม่ให้สิทธิ์ : หญิงไบเซ็กช่วลในโลกที่ไม่อยากให้เธอเลือกทางเอง”

“เป็นผู้หญิงก็โดนมองเบา เป็นไบก็โดนหาว่าโลเล อยู่ตรงกลางของโลกที่ไม่มีใครอยากให้เรายืนอยู่ตรงนั้น”

ไม่นานมานี้มีข่าวคราวของดาราสาวชื่อดังประกาศมีสัมพันธ์รักกับดาราสาวที่อายุน้อยกว่าอีกท่านหนึ่งราวๆ 2 ปี  แต่หลังจากพวกเธอเลิกรากัน กลับพบคอมเมนต์ในหลายเว็บไซต์กลับกล่าวหาดาราท่านนี้และตัดสินรสนิยมทางเพศของเธอ เช่น “หลับตาก็รู้ว่าชอบผู้ชาย” หรือ “นึกว่าเป็น LBTQ งง กลับใจอีกแล้ว” ฯลฯ  ความคิดเห็นเหล่านี้สะท้อนถึงอคติที่มีต่อผู้ที่มีรสนิยมไบเซ็กชวลในสังคม

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปรากฎการณ์ที่นอกเหนือไปจาก ฮโมโฟเบีย แต่เกิดคำเรียกที่ว่า  ไบโฟเบีย (Biphobia) หรือความเกลียดกลัวไบเซ็กชวล ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงมักถูกมองว่าโลเล หรือไม่จริงใจ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและการยอมรับตัวตนของพวกเธอ และเป็นที่น่าสนใจว่าคำตัดสินถึงรสนิยมทางเพศแบบไบเซ็กชวลของดาราท่านนี้เกิดขึ้นในคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงด้วยกันเอง 

 

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://themomentum.co/gender-bisexual

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไบเซ็กชวล (Bisexuality) อาจไม่ใช่แค่เรื่องของความสับสน แต่เป็นภาพจำผิดๆ ที่ฝังลึกในโครงสร้างทางวัฒนธรรมและความคิดของสังคม

อคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่แม้กระทั่งในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ เอง ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความหลากหลายทางเพศ

หนึ่งในอคติที่พบได้บ่อยคือการมองว่า “ไบคือคนโลเล” หรือ “เลือกไม่ได้เลยเลือกทั้งสอง” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนของคนที่รักได้มากกว่าหนึ่งเพศ มันไม่ใช่การลังเล ไม่ใช่การเอาเปรียบ และไม่ใช่การเปลี่ยนใจไปมา แต่มันคืออัตลักษณ์ทางเพศที่มั่นคงและแท้จริง  เพียงแค่ยังไม่เป็นที่เข้าใจ

ในบางกรณี ไบเซ็กชวลยังถูกตีตราว่าเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ที่ใครบางคนจะต้องผ่านไป ก่อนจะ “ค้นพบ” ว่าตัวเองเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนในท้ายที่สุด ความเชื่อนี้ไม่เพียงลดทอนการมีอยู่ของไบเซ็กชวลในฐานะรสนิยมทางเพศที่แท้จริง แต่ยังทำให้ผู้ที่เป็นไบรู้สึกเหมือนไม่ได้รับการยอมรับในตัวตนของตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์กับเพศไหนก็ตาม

งานศึกษาทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากอธิบายว่า อคติต่อไบเซ็กชวลมีรากฐานมาจากแนวคิด “ไบนารี” ที่สังคมยึดถือมายาวนาน

 

แนวคิดที่เชื่อว่าทุกอย่างต้องเลือกข้าง ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (เช่น ชาย/หญิง, ชอบเพศตรงข้าม/เพศเดียวกัน) ทำให้คนที่อยู่นอกกรอบนี้ถูกมองว่า “ผิดปกติ” หรือ “น่าสงสัย”

ผลลัพธ์คือ คนไบมักถูกทำให้มองไม่เห็น (invisible) ในบทสนทนาเรื่องสิทธิ ความรัก และตัวตน ทั้งที่พวกเขาเองก็มีประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และอารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างจากใครเลย

 

(ข้อมูลเพิ่มเติม : https://patient.info/news-and-features/debunking-bisexual-stereotypes-and-myths?

และ 

ผู้หญิงไบ รักใครไม่จริง 

งานวิจัย พบว่า ผู้หญิงไบเซ็กชวลมักเผชิญกับความกดทับจากทั้งสองฝั่งจากทั้งครอบครัวหรือเพื่อนที่มองว่า “แค่สับสน”  หรือจากคนใน LGBTQ+ ที่ไม่ให้พื้นที่ เช่น เลสเบี้ยนที่ไม่อยากคบหญิงไบเพราะ “กลัวเขาจะกลับไปหาผู้ชาย” หรือความรู้สึก  “ไม่พอจะเป็นพวกเดียวกัน”  สร้างผลกระทบทางใจกับการมีอยู่ที่มองไม่เห็น  ความรู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ในคอมมูนิตี้ที่ควรจะเป็น safe zone

ผลที่เกิดขึ้น คือ การไม่กล้าแสดงออก หรือแสดงออกแล้วโดนลดคุณค่า เพราะความเหนื่อยล้าที่ต้อง “พิสูจน์ตัวตน” ตลอดเวลา… แต่ก็ไม่เป็นผล 

เราจะเข้าใจ และซัพพอร์ตกันได้อย่างไร 

ในสังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “ไบเซ็กชวล” (Bisexual) โดยมักมีคำพูดที่ฟังดูเหมือนเป็นการตั้งคำถามหรือปฏิเสธ เช่น “จริงๆ แล้วเธอชอบผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่” หรือ “เธอยังไม่รู้ตัวหรอกว่าสุดท้ายจะเลือกอะไร” ซึ่งคำพูดเหล่านี้สะท้อนความเชื่อผิดๆ ว่าไบเซ็กชวลคือภาวะ ‘สับสน’ หรือเป็นแค่ ‘ช่วงรอยต่อ’ ของการค้นหาตัวเอง

แต่ความจริงแล้ว ไบเซ็กชวลคือรสนิยมทางเพศที่แท้จริง และสมบูรณ์ในตัวเอง

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือการคิดว่าไบเซ็กชวลเป็นแค่ “ทางผ่าน” ไปสู่การเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน หรือเป็นเพียงการทดลองช่วงวัยรุ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นอคติที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและการยอมรับตัวตนของคนไบเซ็กชวลเอง

งานวิจัยโดย American Institute of Bisexuality ชี้ให้เห็นว่า คนไบเซ็กชวลต้องเผชิญกับ “biphobia” หรือความเกลียดกลัว/อคติต่อไบเซ็กชวลทั้งจากสังคมทั่วไปและจากชุมชน LGBTQ+ เอง ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกถูกมองว่า “ไม่แท้” หรือ “ไม่น่าเชื่อถือ” 

 

การที่ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเธอเป็นไบเซ็กชวล ไม่ได้หมายความว่าเธอต้องมีประสบการณ์กับทั้งชายและหญิง หรือว่าต้องพิสูจน์ตัวเองต่อใคร การรู้สึกดึงดูดต่อมากกว่าหนึ่งเพศ ไม่ได้ทำให้ตัวตนของเธอลดความจริงจังหรือมีความหมายด้อยลงกว่าคนที่รักเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม

 

การยอมรับไบเซ็กชวลในฐานะ “รสนิยมทางเพศที่แท้จริง” คือการเคารพสิทธิและอัตลักษณ์ของแต่ละคน และช่วยลดอคติที่ทำให้หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกผลักออกจากทั้งสองฟากของสเปกตรัมทางเพศ

 

 หญิงไบเซ็กชวลไม่ใช่คน “กำลังเลือก” หรือ “สับสน”  

เธอรู้จักตัวเองดี และมีสิทธิในการรักใครก็ได้ที่หัวใจเลือก โดยไม่ต้องอธิบายให้ใครเข้าใจ ไบเซ็กชวลไม่ใช่เพศที่ครึ่งๆ กลางๆ แต่คืออัตลักษณ์ที่เต็มเปี่ยมในตัวเอง และควรได้รับการยอมรับและเคารพไม่ต่างจากรสนิยมทางเพศอื่นๆ

 

แหล่งอ้างอิง:

  1. GLAAD. (2022). Media Reference Guide – 11th Edition. https://www.glaad.org/reference
  2. Movement Advancement Project. (2016). Understanding Issues Facing Bisexual Americans. https://www.lgbtmap.org
  3. American Institute of Bisexuality. https://www.bisexual.org