เมื่อวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ได้จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ภาคีเครือข่าย และนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังมิติความหลากหลายของประชากรกลุ่มเปราะบาง
หลายคนอาจมีคำถามที่ว่า “ทำไมต้องใส่ใจกับประชากรกลุ่มเปราบาง” ทั้งที่สัดส่วนเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศมีเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์

หากเราศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งให้ความหมายว่า ปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดสถานะสุขภาพของประชากร ตั้งแต่เกิด ดำรงชีวิต ทำงาน การเข้าสู่ช่วงสูงวัย ไปจนถึงการเสียชีวิต เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ
ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ มีอิทธิพลสำคัญต่อประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งคือความแตกต่างของสถานะสุขภาพที่ไม่เป็นธรรมและหลีกเลี่ยงได้ทั้งเกิดขึ้นภายในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับใด สุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชนนั้นจะแปรผันไปตามลำดับชั้นของสังคม ยิ่งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลนั้นอยู่ระดับล่างเท่าไร ก็จะมีแนวโน้มที่จะสุขภาพแย่ลงไปด้วย

สุขภาพที่ไม่เท่ากัน : ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพกับประชากรกลุ่มเฉพาะ
“ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” กลายเป็นเครื่องสะท้อนความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่เรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึง “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจ ที่แตกต่างหรือเปราะบางกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ไร้บ้าน กลุ่มเหล่านี้มักถูกกีดกันจากโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพอย่างเป็นธรรม
แม้รัฐจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่การมีสิทธิบัตรทองหรือบัตรประชาชนไม่ได้แปลว่าจะเข้าถึงการรักษาได้อย่างเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่แค่เรื่อง “มีหรือไม่มี” แต่คือเรื่องของ “การเข้าถึง” และ “คุณภาพของบริการ” ที่สะท้อนผ่านนโยบาย สถาบัน และค่านิยมที่ฝังแน่นในสังคม
ตามกรอบแนวคิดของ WHO เรื่อง Social Determinants of Health (SDH) ปัจจัยที่กำหนดสุขภาพไม่ได้มีเพียงพฤติกรรมส่วนบุคคลหรือพันธุกรรม แต่ยังรวมถึงเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เช่น การศึกษา รายได้ สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงในการทำงาน และนโยบายของรัฐ
ประชากรกลุ่มเฉพาะจำนวนมากไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น แรงงานต่างด้าว หรือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพ หรือสวัสดิการสังคมพื้นฐานได้ ในทางปฏิบัติ พวกเขาอาจถูกปฏิเสธการรักษาเพียงเพราะขาดเอกสารยืนยันตัวตน หรือถูกมองว่าเป็น “ภาระของรัฐ”

ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ
แรงงานข้ามชาติ: แม้จะมีระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว แต่ระบบยังมีข้อจำกัดด้านคุณภาพ การสื่อสาร และความไม่ครอบคลุมของบริการ ทำให้กลุ่มนี้มักได้รับการดูแลไม่เท่าเทียมกับแรงงานไทย นอกจากนี้ การเข้าถึงบริการฝากครรภ์ วัคซีน หรือสิทธิการลาคลอดยังไม่ชัดเจนและถูกตีความไม่ตรงกันในหลายพื้นที่

คนไร้บ้าน: ด้วยความไม่มีที่อยู่ ไม่มีบัตรประชาชน หรือหลักฐานยืนยันตัวตน ผู้ไร้บ้านจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในระบบประกันสุขภาพ ถึงแม้บางแห่งจะมีบริการสุขภาพเชิงรุกโดยองค์กรภาคประชาสังคม แต่ก็ไม่ครอบคลุมและไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีเจ็บป่วยเรื้อรังหรือจิตเวช

ผู้สูงอายุ: แม้จะได้รับสิทธิบัตรทองหรือเบี้ยยังชีพ แต่ผู้สูงอายุจำนวนมากเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ ได้แก่ การเดินทางไม่สะดวก ขาดผู้ดูแล และระบบบริการที่ไม่ออกแบบตามความต้องการของวัยชรา เช่น โรงพยาบาลไม่รองรับการเคลื่อนไหวที่จำกัด หรือไม่มีระบบนัดหมายเฉพาะกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ การประเมินภาวะสมองเสื่อมหรือซึมเศร้าในผู้สูงวัยยังอยู่ในระดับต่ำและขาดความต่อเนื่องในระบบปฐมภูมิ

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+): เผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างแฝงเร้นในการรับบริการ เช่น การใช้ภาษาที่ไม่เคารพเพศสภาพ การขาดบริการที่เหมาะสมกับเพศวิถี เช่น การบำบัดฮอร์โมน หรือสุขภาพทางเพศและจิตใจเฉพาะกลุ่ม นำไปสู่การหลีกเลี่ยงการเข้ารับบริการทางการแพทย์แม้มีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชากรเฉพาะที่มักถูกมองข้ามอย่าง ผู้ต้องขัง คนพิการ และเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งล้วนเผชิญความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพอย่างลึกซึ้ง ผู้ต้องขังแม้จะอยู่ในความดูแลของรัฐ แต่การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในเรือนจำยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านบุคลากร เครื่องมือ และความต่อเนื่องของการรักษา โดยเฉพาะโรคเรื้อรังและโรคจิตเวช

ส่วนคนพิการแม้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่กลับพบอุปสรรคจากการเดินทาง สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการ หรือแม้แต่การสื่อสารกับบุคลากรที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมด้านการบริการอย่างเหมาะสม สำหรับเด็กไร้สัญชาติ ปัญหาหลักอยู่ที่การไม่มีสถานะทางกฎหมาย ทำให้ถูกกันออกจากระบบสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้จะมีนโยบายบางส่วนที่เปิดให้เข้าถึงวัคซีนหรือบริการปฐมภูมิในพื้นที่ชายแดน แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมีข้อจำกัดทั้งในเชิงกฎหมายและทัศนคติของเจ้าหน้าที่ อีกด้วย
เสียงของผู้ไร้เสียง : LBTQ ยังมีเรื่องให้พูดทั้งชีวิต

ในเวทีวิชาการงานนี้มีเวทีให้ LGBTQ ได้แสดงตัวตนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายประเด็น ทั้งสุขภาพ สิทธิ กระบวนการยุติธรรม และการออกแบบนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
งานนี้มีเวทีให้ LBTQ ได้มีส่วนร่วมในการจัดบูธนิทรรศการและกิจกรรมสร้างสรรค์หลายรูปแบบ เช่น งานศิลป์ เรื่องเล่า การจัดแสดงสื่อชีวิตจริง รวมถึงบทสนทนาในพื้นที่ร่วมในงานดังกล่าว
แต่ในขณะที่ “พอจะมีพื้นที่” แต่เสียงของกลุ่มอาจจะยัง ไม่ปรากฏชัดในเวทีหลักหรือห้องย่อยที่มีอำนาจกำหนดทิศทางนโยบาย ซึ่งอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างอำนาจภายในของแต่ละคนให้เข้มแข็งและกล้าที่จะออกมาสื่อสารและกำหนดนโยบายด้านสุขภาพที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับสิ่งที่กลุ่มต้องการได้
LBTQ ยังคงเป็นกลุ่มที่เสียงยังดังไม่มาก หลายแห่งยังมีโครงสร้างที่ เลือกฟังเฉพาะเสียงที่ “พูดได้คล่อง เสียงดัง และถูกยอมรับ” เท่านั้น
ดังนั้น ในเวทีที่เปิดพื้นที่เพื่อ “การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้” อย่างแท้จริง เราจึงไม่ควรเพียงเปิดไมค์ แต่ต้องหันหน้า หยุดฟัง และตั้งใจรับรู้ว่า ใครที่ยังไม่มีแม้แต่โอกาสจะขึ้นเวที
เพราะเมื่อเราเริ่มฟังจริง ๆ เสียงที่เคยถูกทำให้เงียบ…จะเริ่มดังขึ้นเอง