เมื่อผู้ที่อยู่ในกลุ่ม LBT (หรือ เลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล รวมทั้งคนข้ามเพศ, เควียร์, นอนไบนารี และคนที่มีเพศหลากหลาย) ต้อง ไปหาหมอ เรียกได้ว่า อาจต้องเผชิญกับประสบการณ์และความท้าทายที่ต่างออกไปจากคนทั่วไป เพราะประเด็นของเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศอาจทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ซับซ้อนขึ้น
ต่อไปนี้คือคำแนะนำและสิ่งที่ควรรู้สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่ม LBT เพื่อการรับมือและเตรียมพร้อมเมื่อ ไปหาหมอ

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
การเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกลุ่ม LBT เอง ก็ต้องการหาหมอที่มีความเข้าใจในเรื่องของเพศสภาพและเพศวิถี:
•ค้นหาแพทย์ที่ได้รับการแนะนำจากคนในชุมชน LGBTQ+ หรือลองดูรายชื่อคลินิกและสถานพยาบาลที่ประกาศตัวว่าเป็นมิตรต่อ LGBTQ+
•จัดเตรียมข้อมูลสุขภาพส่วนตัวล่วงหน้า รวมถึงยาที่ทานอยู่ และประวัติการรักษา เพราะบางข้อมูลอาจเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เช่น การใช้ฮอร์โมน การผ่าตัด หรือการบำบัดใด ๆ ที่ผ่านมาหรือกำลังดำเนินการอยู่
•เตรียมคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากทราบ ทั้งเรื่องสุขภาพร่างกายทั่วไปและสุขภาพจิต
การสนทนา - การสื่อสาร
• แจ้งแพทย์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของคุณ หากคุณรู้สึกสบายใจ เพราะอัตลักษณ์ทางเพศอาจมีผลต่อคำแนะนำหรือการรักษาที่แพทย์เสนอ
• หากพบปัญหาที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สื่อสารไม่เข้าใจเกี่ยวกับเพศของคุณ สามารถถามให้ชัดเจนขึ้น หรือขอให้พวกเขาใช้คำที่เหมาะสมกับคุณได้ เช่น การใช้คำแทนตัวที่ถูกต้องหรือชื่อที่คุณเลือกใช้
การปกป้องสิทธิของตนเอง
• หากเจอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือความไม่เป็นธรรม เช่น การปฏิเสธให้บริการหรือการตัดสินใจที่ลำเอียง สามารถขอคุยกับผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้
• ใช้สิทธิ์ของผู้ป่วยในการรับการรักษาที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศใด ๆ หากพบว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรม คุณสามารถติดต่อองค์กรหรือเครือข่ายสนับสนุน LBT ในพื้นที่เพื่อขอความช่วยเหลือได้
การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและไม่ถูกตีตราเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน การเลือกผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เข้าใจและเคารพในเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของคุณสามารถช่วยให้คุณได้รับการดูแลที่ดีที่สุดและมีคุณภาพ
เมื่อ ต้องไปหาหมอ LBT อยากได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบไหน

กลุ่ม LBT รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มักมีความต้องการในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ตอบโจทย์เฉพาะ ซึ่งการบริการที่เข้าใจและเคารพในความหลากหลายทางเพศจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ดังนี้คือบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่คนกลุ่ม LBT ต้องการ ดังนี้
1. ต้องการผู้ที่มีความเข้าใจและยอมรับในเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ แพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลที่ความหลากหลายทางเพศ ไม่พูดจาหรือแสดงท่าทีที่แสดงถึงอคติทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และการตีตรา
2. ต้องการแพทย์ พยาบาล ที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวลของคนไข้
คนไข้ที่เข้ารับบริการด้านสุขภาพไม่ว่าด้วยเรื่องใด อยากให้ผู้ให้บริการสร้างความรู้สึกที่ผ่อนคลาย เพราะความเจ็บป่วยนั้นทำให้คนไข้รู้สึกไม่สบายใจและเป็นทุกข์ เป็นกังวล การไปพบหมอ พบพยาบาล เป็นเรื่องที่เพิ่มความกังวลอยู่แล้ว หากพบการให้บริการที่ยิ่งทำให้เกิดความเครียดความกังวล จะทำให้คนไข้ โดยเฉพาะกลุ่ม LBT เมื่อมีปัญหาสุขภาพก็ไม่อยากเข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ จนยิ่งทำให้อาการเจ็บป่วยจากเล็กน้อยจะกลายเป็นเจ็บป่วยหนักขึ้นก็ได้
3. ให้เวลากับการให้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้คนไข้เข้าใจถึงอาการเจ็บป่วย ขั้นตอนการรักษา และการป้องกัน
คนไข้เข้าใจว่าในการให้บริการทางด้านสุขภาพของแพทย์ พยาบาล ที่ต้องดูแลคนไข้จำนวนมากนั้นต้องเร่งรีบกับเวลา แต่คนไข้แต่ละคนมีความคาดหวังว่าจะได้รู้ถึงอาการเจ็บป่วยของตัวเอง และได้รับการรักษาโดยมีข้อมูลอย่างละเอียด มีความเข้าใจต่อการเจ็บป่วย การป้องกัน และขั้นตอนการรักษา เราไม่อยากเจออย่างที่บางคนสะท้อนว่า “มีอาการเจ็บหน้าอก พอไปถึงก็เจอพยาบาลพาไปห้องตรวจ บอกให้ถอดเสื้อ โดยไม่อธิบายอะไรเลย ทำให้รู้สึกไม่ดี”
4. คำพูดและท่าทีในการให้บริการคนไข้ที่ต้องการปรับแต่งร่างกาย หรือรับฮอร์โมน ต้องไม่แสดงถึงอคติ ไม่ให้ความเคารพหรือการให้เกียรติ
ในกรณีที่บางคนต้องการคำแนะนำ ปรึกษา เกี่ยวกับการปรับแต่งร่างกาย การตัดหน้าอก ต้องการให้หมออธิบายอย่างละเอียดว่ามีขั้นตอนอย่างไร มีการส่งต่อไปพบจิตแพทย์ก่อนไหม หรือถ้าต้องการใช้ฮอร์โมนต้องทำอย่างไร ไม่ต้องการให้ใช้ท่าทีหรือใช้คำถามที่แสดงถึงอคติ เช่น ตั้งประเด็นหรือตั้งข้อสงสัยว่าอยากตัดหน้าอกทำไม อยากเป็นทรานส์ทำไม การให้คำแนะนำหรือตั้งคำถามควรให้ความเคารพกับความหลากหลายและให้เกียรติผู้มารับบริการ
5. ในเชิงนโยบาย อยากให้กลุ่ม LBT และบุคคลหลากหลายทางเพศกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการทางแพทย์ที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีขั้นสูง
บางคนที่มีความจำเป็นต้องปรับแต่งร่างกายยังเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ตั้งแต่การพูดคุยกับจิตแพทย์ การรับฮอร์โมน การผ่าตัดที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นจึงต้องการให้การบริการทางการแพทย์สำหรับเพศหลากหลายอยู่ในสิทธิของหลักประกันสุขภาพ เช่น การรับฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดบางส่วน เป็นต้น
ข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะของ Lesbian, Bisexual, Transgender, Tomboy กล่าวถึงเรื่องของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สาธารณสุข ว่า ในกลุ่มทอมหรือทรานส์ยังเข้าไม่ถึงการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่นการับฮอร์โมน การผ่าตัดหน้าอก ส่วนคนที่สามารถเข้าถึงบริการก็พบกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ใช้คำพูดและท่าท่าที่มีอคติทางเพศ ถูกตีตราจากบุคลากรทางการแพทย์ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ในบางเรื่อง
งานวิจัยดังกล่าว จึงมีข้อเสนอต่อการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้
– โรงพยาบาลหรือคลินิกทั่วไป สำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ แพทย์ พยาบาล บุคลากรโรงพยาบาล ควรเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจคนข้ามเพศและเพศหลากหลาย ส่งเสริมให้มีการให้บริการโดยปราศจากอคติ การให้บริการกลุ่มเพศหลากหลายมีเรื่องที่ควรคำนึงถึง ทั้งการแสดงออกที่เป็นคำพูด ภาษากาย รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของจิตใจ ปฏิบัติต่อผู้รับบริการที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยความใส่ใจ
– ควรมีการพัฒนาบริการทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับปัญหาของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ละกลุ่ม แม้ว่ากลุ่ม LBT จะมีเพศกำเนิดหญิง แต่ปัญหาสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจนั้นมีความแตกต่างกัน
– ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของรัฐ ควรเพิ่มคลินิกสุขภาพเพศ ที่เป็นคลินิกให้บริการดูแลเพศหลากหลาย
ข้อมูลจาก