แต่ละคนประสบปัญหาที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีรากของปัญหาจากที่มาเดียวกัน การไปแก้ปมหรืออคติอาจจะต้องใช้เวลานาน แต่ทางแก้ที่จะทำให้คนได้เข้าถึงสิทธิการบริการด้านสุขภาพ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เหมือนกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องลงมือทำได้ทันที
สุมาลี โตกทอง คณะทำงานของโครงการ LBT Wellbeing กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของ LBT ที่มีที่มาจากการเก็บข้อมูลผ่านการสนทนากลุ่ม (Focus group) การแลกเปลี่ยนปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข ทั้งที่ทำได้ด้วยตัวเอง ด้วยพลังของการสนับสนุนจากกลุ่ม ชุมชน และการช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานที่จัดการระบบได้พัฒนาการบริการต่างๆ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของ LBT ด้วย

ในแต่ละช่วงวัยนั้นประสบปัญหามากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน ปัญหาที่เกิดจากการไม่ถูกยอมรับ อคติ ที่ทำให้เกิดการตีตรา การเลือกปฏิบัตินั้น เป็นปัญหาที่ใหญ่มากในทุกระดับของสังคม ทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ที่ทำงาน บริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม กระทบไปถึงการประกอบอาชีพ ยิ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนยิ่งประสบปัญหาหลายรูปแบบ ผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและการรับมือของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาต้องเผชิญคนเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งสังคม ที่ต้องช่วยกันมองให้เห็นและเปลี่ยนแปลงให้ได้
ในด้านช่วงวัย มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทั้ง กลุ่มเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงวัย
สำหรับกลุ่มเยาวชนนั้นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ตัวตน ยังเป็นเรื่องที่กำลังค้นหา แม้ว่าสังคมโดยรวมจะดูเหมือนมีการยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ในบริบทครอบครัว ญาติ โรงเรียน และสังคม ที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวบุคคลก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เป็นเหมือนภาพของการยอมรับได้ถ้าคนที่ตนเองไม่รู้จักเป็น LBT แต่ยังยอมรับไม่ได้ ถ้าคนในครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนที่เกี่ยวข้องด้วยเป็น LBT ยังมีการพูดถึง ตำหนิ ล้อเลียน และเลือกปฎิบัติอยู่

สำหรับวัยทำงานนั้น มีทั้งปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ที่ทำงาน โดยเฉพาะในที่ทำงานนั้นยังมีการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้ทำงานในแผนกที่มีความสามารถ ทั้งด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ตัดสินว่าบางหน้าที่นั้นไม่เหมาะกับผู้หญิง บางแห่งอ้างอัตลักษณ์ให้ไปทำงานหนักและเสี่ยง ไปจนถึงใช้แรงงานผู้ที่มีอัตลักษณ์ทอมเหมือนกับการใช้แรงงานของเพศชาย

สำหรับผู้สูงวัย 45+ ล้วนเคยประสบปัญหาการไม่ยอมรับทั้งจากครอบครัวและสังคมมาแล้ว เนื่องจากเติบโตมาในช่วงที่สังคมยังไม่ค่อยมีการพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย การเก็บตัว ไม่เปิดเผยตัวเองจึงมีค่อนข้างมาก หลายคนไม่มีคู่ โดดเดี่ยว บางคนต้องรับภาระดูแลคนในครอบครัว ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ และหลายคนมีปัญหาด้านสุขภาพ บางคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการเข้ารับบริการสุขภาพจึงหลีกเลี่ยงไม่เข้ารับบริการ หรือเลือกใช้บริการของภาคเอกชน ซึ่งย้อนกลับไปทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นช่วงวัยที่ถูกเลิกจ้าง มีงานน้อยลง ทำงานได้เฉพาะด้าน หางานทำยาก ที่ส่งผลต่อรายได้ที่น้อยลง

ในด้านกลุ่มอาชีพ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใน 2 กลุ่ม ในบริบทที่ต่างกัน คือ พื้นที่พัทยา ที่มี LBT หลายคนทำงานบาร์โฮส และในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มี LBT ทำงานรับจ้างเป็นไรเดอร์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการทำงาน อย่างบาร์โฮสที่ทำงานกลางคืน ช่วงเวลาพักผ่อนก็จะไม่เหมือนอาชีพอื่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานบริการด้านสุขภาพโดยส่วนใหญ่ไม่เปิดให้บริการ อีกทั้งการงานที่ทำก็ยิ่งบั่นทอนสุขภาพ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานที่ต้องแลกเครื่องดื่มจากลูกค้าจึงจะมีรายได้ และหลายคนที่ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ
ความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ จากความเกลียดชัง และมีบ้างที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคู่

ในขณะที่อาชีพไรเดอร์ ซึ่งต้องใช้แรงกายในการทำงาน การทำงานแข่งกับเวลาที่ทำให้ต้องกลั้นการเข้าห้องน้ำ และเสี่ยงติดเชื้อจากห้องน้ำที่ไม่สะอาด และบางครั้งถูกกีดกันการเข้าห้องน้ำด้วยเหตุจากอัตลักษณ์ หลายคนถูกใช้แรงงานที่หนักและเสี่ยงเพราะถูกมองว่าต้องมีกำลังทำงานได้เหมือนเพศชาย ขณะที่การไม่ถูกยอมรับก็ยังเป็นปัญหาในครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสนทนากลุ่มกับ LBT ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ส่วนใหญ่ประสบปัญหาตั้งแต่การไม่ถูกยอมรับจากครอบครัว ถูกมองว่าการเป็นผู้หญิงก็ต้องมีผู้ชายดูแล มีการบังคับให้แต่งงานกับผู้ชาย ยิ่งตาบอดยิ่งถูกมองว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นผู้หญิงด้วยกันจะดูแลกันได้อย่างไร
ส่วนใหญ่ปัญหาของคนตาบอดคือ ไม่มีความรู้เรื่องเพศ ครอบครัวไม่พูดเพราะคิดว่าไม่ควรรับรู้ โรงเรียนไม่สอนเพราะคิดว่าไม่จำเป็น การค้นหาตัวตนในเรื่องเพศยิ่งมีความยากลำบาก การศึกษาด้วยตัวเองมีความเสี่ยงเพราะไม่มีการกลั่นกรองความถูกต้องของข้อมูลความรู้ การลองถูกลองผิดทำให้ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากการหาอุปกรณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศมาใช้เอง
ปัญหาที่ใหญ่มากของผู้พิการนั้นเป็นเรื่องของความเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด ในสถานศึกษาและเพื่อนผู้พิการด้วยกันเอง
ส่วนเรื่องของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพนั้นยิ่งยากลำบาก ทั้งการเดินทางไปรับบริการ การให้บริการด้วยความไม่เข้าใจความพิการแต่ละประเภท และความลำบากใจของ LBT ที่ต้องรับบริการจากเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ที่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนไปกับความพิการ

การสนทนาเสนอแนะการแก้ไขปัญหาของแต่ละกลุ่มจึงมีความแตกต่างกันในแต่ละบริบท อาทิ
กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นต้องการความเข้าใจจากครอบครัว และสังคม ขณะที่วัยทำงานต้องการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ให้มีแนวปฏิบัติหรือนโยบายคุ้มครองปัญหาการคุกคาม การละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การมีกลไกรองรับการสมรสเท่าเทียมที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ
สำหรับผู้สูงวัยนั้นต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางเลือกของการทำงานและการมีรายได้ที่พึ่งตนเองได้ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ การบริการด้านสุขภาพที่มีความเข้าใจ ไม่เลือกปฏิบัติ และพัฒนาสถานบริการบ้านพักที่เหมาะสมกับ LBT ในการใช้ชีวิตบั้นปลาย
สำหรับอาชีพคนทำงานบริการบาร์โฮสต์ ต้องการให้มีการจัดบริการด้านสุขภาพเชิงรุก ให้เข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับเวลาและการทำงาน และมีพื้นที่ปลอดภัยที่สนับสนุนด้านจิตใจ ส่งเสริมสุขภาพ
อาชีพไรเดอร์มีความต้องการเพิ่มเติมในการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยทางเพศที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น ห้องน้ำสะอาดที่ครอบคลุมพื้นที่เส้นทางการใช้รถ และห้องน้ำที่มีความเป็นกลางต่อความเป็นเพศ
ในส่วนของ LBT ผู้พิการทางสายตา นอกจากการยอมรับจากครอบครัวแล้ว ยังต้องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เข้าใจทั้งความพิการและการเป็น LBT ที่สำคัญคือส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้มิติเพศภาวะ เพศวิถี ระบบอนามัยเจริญพันธุ์และอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ไม่ต้องไปเสี่ยงเอาเอง
ความต้องการของทุกกลุ่มและทุกอาชีพนั้น เป็นเรื่องของการยอมรับ ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฎิบัติ และการพัฒนาการบริการด้านสุขภาพที่มีความเข้าใจ ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมและระบบบริการต่างๆ LBT ยังต้องการการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ศักยภาพภายใน ด้วยการมีกลุ่มสนับสนุนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เสริมความมั่นคงภายใน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม