ทุกๆ ปลายปี จะมีงานหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าเป็นงานเทศกาลที่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มารวมตัวเฉลิมฉลองความหลากหลายของชีวิตในทุกๆ รูปแบบ กับงาน เบิกบานเฟส 2024 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา กรุงเทพฯ
สรรพชีวิตนี้ จะหมายรวมถึงความแตกต่างอย่างมีชีวิตชีวา ทั้งผู้คน สัตว์ พืช และสรรพสิ่งในธรรมชาติ ที่จะมาบรรเลงเรื่องราวของความสุข ความทุกข์ ความหวัง และพลังบวก ให้ทุกชีวิตได้มาร่วมแบ่งปันกัน
เบิกบานเฟส ปีนี้ผู้จัดงานให้ความหมายกับคำว่า “สรรพชีวิต” อธิบายบายว่า อยากให้สัมผัสถึงพลังงานใหม่ๆ ที่พร้อมให้เราเติบโตไปด้วยกันในระบบนิเวศแห่งนี้
ในงานกิจกรรมมากมาย ที่จะช่วยเสริมพลังจิตใจ ปลอบโยนความรู้สึก มอบความอบอุ่น และเติมเต็มพลังใหม่ๆ ให้เราเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาก็ตาม

ภาวนาร่วมกันเพื่อสรรพชีวิต
“อะไรที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในปีนี้”
เป็นคำถามที่คุณฮั้ว – ณชเล บุญญาภิสมภาร ตั้งคำถามหลังจากนำทุกคนในงาน “เบิกบานเฟส 2024” ที่จัดขึ้นในวันนี้ (9 พฤศจิกายน 2567) ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา กรุงเทพมหานคร หลังจากที่นั่งภาวนาร่วมกันราวสิบนาที ในบรรยากาศอันเงียบสงบ
คำถามนี้อาจกระตุกใจหลายคนที่อาจกำลังเหนื่อยล้า หรือมีคำถามกับตัวเอง ให้ฉุกคิดและทบทวนชีวิตที่ผ่านมาได้ว่าเราได้ทำอะไรที่ทำให้ตนเองได้ภูมิใจ ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว การงาน หรือสังคม

กล่าวเปิดงานโดย พี่ตั้ม อัญชลี คุรุรัช ผู้แทนคณะทำงานความเบิกบานแห่งชีวิต (เบิกบานเฟส 2024)
“ความเบิกบานคือความงดงามที่เรารดน้ำให้ผลิดอกออกผลให้มันงอกงามด้วยตนเอง
เราต่างต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยสําหรับชุมชนทุกชุมชน
เหมือนกับการที่เราปลูกต้นไม้เราหว่านเมล็ดลงแล้วเราก็ใช้เวลาใช้พลังกายพลังใจกับมันค่อยๆพรวนดินจนกระทั่งเติบโตพอออกดอกออกผลเราจะมีความเบิกบานใจมากเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราลงแรงด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกันถ้ามันไม่ใช่มีต้นไม้ของเราต้นเดียวแต่ว่ามีของเพื่อนเพื่อนของชุมชนอยู่ร่วมกันทุกคนร่วมแรงร่วมใจแล้วมันก็เบิกบานสะพรั่งขึ้น
นั่นคือสิ่งที่นํามาซึ่งความสุขให้กับพวกเราทุกคน”
ทีมคณะทำงานความเบิกบานแห่งชีวิตขอแสดงคำมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสร้างความสุขและความเบิกบานให้กับทุกคน โดยเราจะทำงานร่วมกันด้วยความรับผิดชอบและการเข้าใจ เพื่อพัฒนาสังคมให้มีความสุขและความผาสุกในทุกมิติ

สรรพสิ่งของผืนโลกล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์
หนึ่งในกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลน์ของงานเบิกบานเฟสทุกๆ ปี คือ กิจกรรมการเสวนา
ในปีนี้เสวนาเบิกบานเฟส หัวข้อ “เพราะสุขภาวะของสรรพสิ่งบนผืนโลกล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์“ Landscape of Well-BEINGS
ร่วมทำความเข้าใจกับประสบการณ์ของวิทยากรกับความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง สังคม และปัญหาสุขภาวะ แบบองค์รวม
ชวนคิด ชวนคุย โดย :
คุณวราภรณ์ แช่มสนิท หรือ “อู๊ด” ผู้ดูแลแผนงานสุขภาวะเพื่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมแลกเปลี่ยน และตอบคำถาม โดย :
เจี๊ยบ – นงลักษณ์ แก้วโภคา – เจ้าหน้าที่แผนงานโครงการอาวุโส องค์กรเสมสิกขาลัย (SEMASIA)
ท้อป – วรรณสิริ รงรองเมือง – ผู้ประสานงานเครือข่ายพุทธนิเวศ เครือข่ายพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์เพื่อสังคมนานาชาติ (INEB)
แหม่ม – ประภาพร ผลอินทร์ – ประธานกลุ่มไรเดอร์กรุงเทพฯฝั่งธนา
อ้อย – วราภรณ์ หลวงมณี – ผู้อำนวยการ อาศรมวงศ์สนิท
ฮั้ว – ณชเล บุญญาภิสมภาร – ผู้รับผิดชอบโครงการข้ามเพศมีสุข
ในเสวนานี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการหาข้อความหัวใจ วิสัยทัศน์ ภาพฝัน มุมมองที่สดใหม่ ความงดงาม ความเข้มแข็ง ทรงพลัง โอบรับได้ถึงทุกชีวิตผ่านผู้นำที่ทำงานด้านความเป็นธรรมทางสังคมและสันติภาพ
รวมถึงให้ผู้ฟังช่วยกันคิด วิเคราะห์ ช่วยกันมองด้วยความสร้างสรรค์ เปิดกว้าง หาจุดร่วม คุณค่าร่วม มุมมองด้านบวก ทิศทางผ่านแผนงานการเคลื่อนงานสุขภาวะ จิตวิญญาณแห่งความเบิกบาน

การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่งดงาม
คุณวราภรณ์หลวงมณี (อ้อย) –ผู้อำนวยการอาศรมวงศ์สนิท กล่าวถึงส่วนงานที่ทํามีประเด็นใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของการศึกษาทางเลือก ภายใต้มูลนิธิเสถียรโกเศศ ประทีป เรื่องของการศึกษาทางเลือก
ส่วนที่เป็นงานเด็กและเยาวชนใช้ชื่อว่า สถาบันยุวโพธิชน อีกส่วนหนึ่งเป็นทําเรื่องหลักสูตรผู้นํากระบวนทัศน์ใหม่ เป็นการสร้างคนที่จะไปทํางานทางสังคม
งานเด็กและเยาวชนจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กนอกระบบที่ไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้เรียนในระบบ บางคนอาจจะออกนอกระบบโดยความตั้งใจ แต่บางคนก็ถูกบีบออกโดยภาวะจําเป็นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือสังคมที่บีบคั้น
กระบวนการศึกษาแบบที่ทำจึงเป็นการศึกษาแบบที่เสริมพลังอํานาจ (Empower) ให้คนรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง เคารพตนเองได้ และอยู่ร่วมกับความหลากหลายได้ หลักสูตรหรือกระบวนการ จะเป็นค่ายระยะเวลายาว 21 วัน แต่ก็ปรับประยุกต์ใช้ให้มันเหมาะกับแต่ละท้องที่พื้นถิ่นด้วย เช่น จังหวัดสุรินทร์ก็จะมีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่น ที่อาจไม่มีเวลามาอยู่ค่ายยาวๆ ก็อาจจะจัด 2-3 วัน
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ สามเณรที่จังหวัดน่าน จะเป็นสามเณรที่เป็นชนเผ่า เขาเลือกบวชเพื่อที่เขาจะได้เรียนหนังสือ
กระบวนการทำงาน ที่เน้นการเสริมพลังให้กับเด็กๆ ก็จะทำร่วมกับ ทั้งพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“การจัดกระบวนการเรียนรู้ก็จะเน้นคือการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์แบบมีส่วนร่วมเน้นให้เกิดการลงมือทําก็จะสร้างความมั่นใจสามารถออกจากความลังเลสงสัยในบางเรื่องได้ผ่านการลงมือทําแล้วก็ถอดบทเรียนกับมัน
การภาวนาหรือว่าการกลับมารู้เท่าทันตนเองเพื่อลดอัตตาซึ่งเป็นได้ทั้งแบบที่รู้สึกตัวเองด้อยกับรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่ากระบวนการจะทำให้เกิดการได้กลับมามองรู้เท่าทันตนเองผ่านกระบวนการภาวนาที่หลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะกับเยาวชนไม่ได้มีเฉพาะการนั่งหลับตาแต่มันก็จะมีอีกหลากหลายที่จะช่วยให้เด็กๆได้อยู่กับตนเองได้
กัลยาณมิตรหรือการมีเพื่อนที่ไม่ใช่เฉพาะเพื่อนในวัยเดียวกันแต่เป็นเพื่อนที่หลากหลายการรู้จักความรักความเมตตาเป็นปีกของการใคร่ครวญภายในของตนเองเครื่องมือที่ช่วยให้การให้กลับมาใคร่ครวญภายในของตนจะมีทั้งเรื่องของการเขียนการแลกเปลี่ยน”
การที่ทําให้เด็กและเยาวชนได้เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่จริงของการรู้จักความความทุกข์ เป็นเรื่องสําคัญที่ทําให้มนุษย์เราเติบโต เราก็จะพาเขาไปสัมผัสกับเรื่องราวเหล่านั้น เช่น การพาไปรู้จักคนที่อยู่ในชุมชน เมือง การพาไปรู้จักคนหลากหลายรูปแบบ เขาเกิดความทุกข์อย่างไร เขาก้าวผ่านเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร
“เราพยายามที่จะต่อเชื่อมต่อกับระบบการศึกษาที่จะทําให้เขาได้วุฒิการศึกษาด้วย เรียกว่าพยายามทําแบบรอบด้าน ทั้งกับชุมชน ทั้งกับตัวเด็ก” คุณวราภรณ์หลวงมณี กล่าวทิ้งท้าย

ภาพจาก BBC
สันติภาพกับคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้
คุณนงลักษณ์แก้วโภคา (เจี๊ยบ) เจ้าหน้าที่แผนงานโครงการอาวุโสองค์กรเสมสิกขาลัยกล่าวถึงงานด้านสันติภาพ ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพ สร้างความเป็นธรรมและก็ความยั่งยืนในพม่า รวมถึงในภูมิภาค
เหตุการณ์รัฐประหารในพม่าในปี 2021 มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพม่าเข้าร่วมขบวนด้วย หลักๆ ก็เป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม เป็นคนรุ่นใหม่ พวกเขาเหล่านี้ อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวที่นําไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเพื่ออนาคตของประเทศ
ในช่วงนั้นช่วงแรกๆ ก็มีการเคลื่อนไหวอย่างสงบ หรือการทำอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) จะมีนักกิจกรรมเข้าร่วมเป็นจํานวนมากทั้งเดี่ยว กลุ่ม และเป็นองค์กรรวมถึงเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิด้วย เนื่องจากรากฐานการทํางานเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
เพราะฉะนั้นก็จะต้องทําความเข้าใจว่าเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้าร่วมขบวนหรือไม่เข้าร่วมขบวน แต่ในฐานะองค์กรก็ทําในส่วนที่จะสนับสนุนได้
ภายหลังจากรัฐประหาร มีการปราบปราม กลุ่มนักเคลื่อนไหว บางส่วนอยู่ภายใต้ความไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงต้องออกจากประเทศ งานหลักๆ ก็จะช่วยหาพื้นที่ปลอดภัยที่จะอยู่ได้
นอกจากนี้ก็จะสนับสนุนเพื่อนๆ ในพม่า การเข้าไปทํางานกับคนรุ่นใหม่ในพม่า หลายคนเติบโตเป็นผู้นําขององค์กร ทำให้เรามีกัลยาณมิตร มีเครือข่ายนักเคลื่อนไหวในพม่า ก็ช่วยกันสนับสนุนให้คนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยให้พวกเขาออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัย หลังจากนั้นก็จะทำงานด้านฟื้นฟูสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากการถูกกระทําความรุนแรงจากทหาร
“เพราะฉะนั้น Emotional Well – Being การสนับสนุนทางด้านจิตใจให้กับนักกิจกรรมจึงเหมือนกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน”
นักกิจกรรมในพม่า ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอยู่ในประเทศได้แต่ว่าการได้มีพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาฟื้นฟูสภาพจิตใจมีแรงขับเคลื่อนสิ่งที่ตัวเองคิดทําแล้วก็มี commitment ที่จะดําเนินกิจกรรมหรืองานขับเคลื่อนงานของตัวเองต่อไปได้
สถานการณ์ความขัดแย้งแล้วก็สงครามในพม่ารอบนี้อาจจะแตกต่างไป มันมีความซับซ้อนมากขึ้น การส่งความช่วยเหลือมันไม่สามารถที่จะส่งได้แบบปกติ เพราะว่าขาดเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่รู้ว่าใครอยู่ฝั่งไหนบ้าง เป็นปัญหาที่มันแตกต่างไปจากความขัดแย้งรอบก่อนๆ
ภายหลังรัฐประหาร ได้มีการถอดบทเรียนแล้วก็เรียนรู้ว่าขณะที่องค์กรใหญ่ๆ มีการขัดเรื่องระบบระเบียบ นโยบายของตัวเองในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม แต่การรวบรวมทรัพยากรจากคนตัวเล็กตัวน้อย องค์กรเล็กๆ ผ่านกัลยาณมิตรของเราสามารถช่วยเหลือคนได้ทันเหตุการณ์ ทันท่วงที
ทำให้ตอกย้ำความเชื่อเรื่องการส่งเสริมบทบาทของคนที่เป็นคนที่ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะด้านมนุษยธรรม งานสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน ทําให้เราออกแบบโครงการของเรามาในเรื่องของการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนในเรื่องประชาธิปไตย หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างด้วย

ไรเดอร์ : อาชีพอิสระกับออฟฟิศบนท้องถนน
คุณประภาพรผลอินทร์ (แหม่ม) ประธานกลุ่มไรเดอร์กรุงเทพฯฝั่งธนฯ กล่าวถึงอาชีพขับรถส่งอาหาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไรเดอร์”
“ฟังดูดีว่าอาชีพอิสระแต่ก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองไม่มีสวัสดิการใดๆ”
เรามีออฟฟิศอยู่บนถนนเราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อใดออกมาทำงานแล้วเราจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวไหมเมื่อเกิดอุบัติเหตุถึงแม้จะไม่เสียชีวิตแต่ก็ต้องหยุดงานจนกว่าจะหายต้องจ่ายรักษาตัวเองและยังต้องขาดรายได้
ส่วนตัวของแหม่มเมื่อทำอาชีพไรเดอร์ก็อยากจะขับเคลื่อนสังคมอยากขับเคลื่อนให้ไรเดอร์ไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นจึงพยายามรวมตัวจัดตั้งกลุ่มไรเดอร์ในพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งพรบ.คุ้มครองอาชีพอิสระอยากให้มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของไรเดอร์”
เพราะอาชีพไรเดอร์ทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่งอาหารให้คนอื่น แต่ตัวเองก็ยังไม่ได้ทานอาหารมีพบเห็นได้ทั่วไป เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าน้ํามันแพงขึ้น ทำอย่างไรจะวิ่งรอบให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายวัน หลายคนตกอยู่ในภาวะความเครียด
ทุกวันนี้ไรเดอร์ส่วนมากจะเป็นโรค NCD อ้วนลงพุงกันเยอะมาก เพราะนอกจากกินอาหารไม่เป็นเวลา ก็จะไม่ได้ออกกําลังกาย หลายคนเส้นเลือดในสมองตีบ
นอกจากเรื่องสุขภาวะทางกาย ทนสูดกลิ่นควันรถบนท้องถนนแล้ว ก็ยังมีเรื่องสุขภาพจิตด้วย อย่างที่บอกว่า ค่ารอบลดน้อยลง ค่าครองชีพสูงขึ้น ก็ต้องวิ่งกันจนห้าทุ่ม เที่ยงคืน ยังไม่ได้กลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทางกรุงเทพมหานคร โดยรองผู้ว่าฯ ทวิดา กมลเวชช มีกิจกรรมตรวจสุขภาพฟรี หนึ่งล้านคนทั่วกรุงเทพฯ ก็อยากเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ ไรเดอร์ และอาชีพขับวินมอเตอร์ไซด์ ให้เข้าไปรับการตรวจสุขภาพ ซึ่งฟรีทุกอย่าง
จากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่อาชีพไรเดอร์จะต้องพบเจออยู่เสมอ ไม่ว่ากับตนเอง หรือคนอื่นๆ ก็ตาม จึงมีการริเริ่มโครงการ โดยการประสานงานกับทางทีมแพทย์โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เชิญวิทยากรมาสอนการอบรม CPR (CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้น ให้กลับมาหายใจ หรือลมหายใจไหลเวียนได้ตามปกติ) ซึ่งสามารถทำให้ไรเดอร์สามารถช่วยเหลือกันและกันได้ในกรณีฉุกเฉิน

พุทธไม่เพียงเพื่อตัวเองแต่เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
คุณวรรณสิริรงรองเมือง (ท้อป) ผู้ประสานงานเครือข่ายพุทธนิเวศเครือข่ายพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์เพื่อสังคมนานาชาติ (INEB) เล่าว่า เครือข่ายของชาวพุทธที่ไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อสงบจิตสงบใจสําหรับตัวตนอย่างเดียว แต่ดูว่าสังคมจริงๆ แล้วเขามีปัญหากันบ้าง
ถึงแม้ชื่อจะเป็น เครือข่ายพุทธ แต่ว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น เพราะใช้หลักของคําสอนของพระพุทธเจ้าในการเอามาใช้ในชีวิตประจําวันของตนเอง และประโยชน์ของสังคม
งานหนึ่งของเครือข่ายฯ จะมีด้านสุขภาพจิต การป้องกันการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นอกจากนี้ยังทํางานเกี่ยวกับประเด็นของของภิกษุณี รวมไปถึงการศึกษาเรื่องพุทธเพื่อสังคมที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาพุทธอย่างไร และเราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจําวันได้อย่างไรบ้าง
บางทีการที่เรากระทําอะไรบางอย่างไปมันส่งผลกระทบโดยที่เรามองไม่เห็นแล้วเราไม่เคยรู้ จึงสนใจเรื่องการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคที่มีความตระหนักรู้
สิ่งที่เราอุปโภคทุกวัน มาจากที่ไหน ใช้แรงงานทาสหรือไม่ โกงค่าแรงใครมาหรือไม่
การที่เรามีความเชื่อว่าสิ่งที่เรากระทําไป มีผลดีกับตัวเราและคนอื่นมันจะเป็นการเติมเต็มชีวิตของเรา ทําให้ชีวิตเรามีคุณค่าและเราก็จะมั่นคง
INEB มีโปรแกรมการเดินทางเพื่อการเรียนรู้จากตัวเองและสิ่งรอบข้าง เป็น social enterprise แบบบริษัททัวร์ท่องเที่ยว แต่ว่าทัวร์ของเราไม่ใช่ไปรวมตรงนี้ 5 นาทีถ่ายรูป แต่มีการเข้าไปทํากิจกรรมร่วม
ชุมชน เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นทางเลือกเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนต่อรุ่นด้วย

การเข้าถึงฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แต่คือการเข้าถึงสุขภาวะที่ดี
คุณณชเลบุญญาภิสมภาร (ฮั้ว) ผู้รับผิดชอบโครงการข้ามเพศมีสุข เล่าถึงการทํางานประเด็นหลักๆ คือทํางานกับคนข้ามเพศ ในทุกมิติของชีวิตของคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต กฎหมาย ความเป็นอยู่ที่ดีความสุขทุกอย่าง
โครงการข้ามเพศมีสุข เราพบว่าคนข้ามเพศหลายคนในบ้านเรา ต้องไปทานฮอร์โมน เข้าถึงกระบวนการของการข้ามเพศไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดต่างๆ คนข้ามเพศต้องจ่ายทุกบาททุกสตางค์ ทั้งๆที่การข้ามเพศมันเป็นกระบวนการที่จําเป็นในความเป็นมนุษย์ของเรา
ในความเป็นคนข้ามเพศ เรามีสุขภาพเฉพาะอย่างบางอย่างที่อาจจะไม่เหมือนคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
ฉะนั้นกระบวนการของการข้ามเพศ เป็นกระบวนการที่มันจําเป็น และสําคัญกับสุขภาวะของเรา ถ้าเราได้ข้ามเพศถ้าเราได้เข้าถึงฮอร์โมนเราเข้าถึงการผ่าตัดต่างๆ เพื่อการข้ามเพศ มันจะทําให้ชีวิตเราสมบูรณ์ มันจะทําให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น มันจะทําให้เรารู้สึกว่าเรามีความมั่นใจในการที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเรา
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันกระทบกับวิถีชีวิตของเราในฐานะคนข้ามเพศ
สิ่งที่โครงการทํา คือว่าเราไปทํางานร่วมกับภาคี ทั้งภาคีท้องถิ่นภูมิภาคประเทศแล้วก็หน่วยงานภาครัฐให้เข้าใจว่าฮอร์โมน มันเป็นเรื่องของความจําเป็น ไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม เราไม่ได้อยากจะแค่สวยงาม เราอยากจะมีสุขภาพที่ดี
การเข้าถึงฮอร์โมนของเราทําให้เรามีสุขภาพดี ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราไปทําแล้วเรารู้สึกว่าเกิดผลกระทบในทางที่ดีมากๆ คือเราทํางานกับคนจํานวนมากที่เป็นคนข้ามเพศแล้วเราพยายามไปเปลี่ยนคําอธิบายของการใช้ฮอร์โมนของคนข้ามเพศว่า จริงๆแล้วการใช้ฮอร์โมนมันเป็นเรื่องของสุขภาวะ มันไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม
ทํางานมาเกือบ 3 ปีปรากฏว่าคนที่เราไปทํางานด้วยก็ออกไปพูดกับเพื่อนในชุมชน ออกไปพูดกับคนที่เขาทํางานด้วย
ฉะนั้นภาครัฐควรจะต้องออกแบบชุดสวัสดิการที่มันจําเป็นและสําคัญ
เหล่านี้ให้เราเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบชุดบริการที่ภาครัฐช่วยเราในการจ่าย เพราะว่าคนข้ามเพศหลายคนประสบปัญหาเรื่องของการหางาน เรื่องของการถูกเลือกปฏิบัติ และมีค่าใช้จ่ายที่สูง ภาครัฐควรจะต้องออกมาช่วยซัพพอร์ตเราตรงนี้
นอกเหนือไปจากการทำงานกับคนข้ามเพศ ให้เกิดการอธิบายใหม่ว่าการเข้าถึงฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องความสวยงาม ก็ยังมีการทํางานเรื่องสุขภาพใจ เรื่องของจิตวิญญาณ ความพึงพอใจในความเป็นเรา ความรู้สึกมั่นใจ เรื่องของความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน
ความเป็นมนุษย์ในความหลากหลาย : ในมูลนิธิที่เราทํางานด้วย คือมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นมูลนิธิที่เราทํางานกับคนข้ามเพศเป็นหลัก
เราเริ่มจากการออกแบบนโยบายของมูลนิธิเ ว่าถ้าเราจะให้คนของเราที่เราดูแล้วมีความสุข จะต้องมีนโยบายอะไรบ้าง เช่น เราจะเห็นว่า พ่อแม่เราเสียชีวิต หรือคนญาติสนิทเสียชีวิตเราสามารถลางานได้
เราพบว่าคนข้ามเพศหลายคน อาจจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย สิ่งที่เราทําก็คือว่าคนข้ามเพศก็อาจจะมีแมวมีหมามีสัตว์เลี้ยงที่เป็นคนในครอบครัว ถ้าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเสียชีวิตไปในฐานะที่เป็นคนในครอบครัวเสียชีวิต เราสามารถลาหยุดไปจัดงาน ไว้อาลัยสัตว์เลี้ยงได้
อีกเรื่องที่มูลนิธิทําคือ เราพบว่าคนข้ามเพศต้องเข้าไปสู่กระบวนการของการข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหน้าอก เอาหน้าอกออก เข้าผ่าตัดเปลี่ยนเพศ สิ่งที่มูลนิธิทําคือ เราให้เจ้าหน้าที่และคนทํางานของเราลางาน 30 วันเพื่อไปทํากระบวนการเหล่านี้
ถ้าต้องการลางานเพิ่มมากขึ้นก็สามารถทําได้แต่เราอาจจะลดค่าเงินเดือนขึ้นมาแบบ 75% 50% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ขอลา
เราไม่ได้มองว่าคนทํางานเป็นพนักงานที่เราจ่ายเงินเดือนเท่านั้น เรามีเพื่อนๆ ในชุมชนที่มาช่วยเราคิด ออกแบบกิจกรรม ที่เราเรียกว่าทีมคณะทํางาน
“คณะทํางานของเราในทุกปีเราจะมีงบประมาณก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งให้เขาสามารถนําไปใช้ในการเพิ่มความสุขให้กับตัวเขาเองได้
กระบวนการคิดเหล่านี้มันเป็นกระบวนการคิดที่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนเรารู้สึกว่ามันไม่มีองค์กรมากนักที่เห็นความเป็นมนุษย์ตรงนี้ของคนโดยเฉพาะความเป็นมนุษย์ในคนข้ามเพศ” คุณฮั้วกล่าวทิ้งท้าย
เรียกได้ว่าเป็นการทำงานให้เป็นแบบอย่างของการมองคนทำงานในฐานะความเป็นมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
หากงานเสวนานี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการหาข้อความหัวใจ วิสัยทัศน์ ภาพฝัน มุมมองที่สดใหม่ ความงดงาม ความเข้มแข็ง ทรงพลัง โอบรับได้ถึงทุกชีวิตผ่านผู้นำที่ทำงานด้านความเป็นธรรมทางสังคมและสันติภาพนั้น การนั่งฟังเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละท่านอย่างตั้งใจ ทำให้เราตระหนักกถึงมุมมองต่อโลก และสรรพสิ่งได้กว้างและลึกซึ้งขึ้นได้อย่างแท้จริง