Group Support LBT 101

Group Support LBT 101

“เราเคยได้รับรู้ว่า การมีกลุ่มพูดคุย การจัดกิจกรรมแบบนี้  โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกย์ กะเทย พื้นที่พูดคุยของคนที่เป็น LBT ค่อนข้างน้อย ยิ่งพื้นที่ของ LBT ที่มีบริการการด้านสุขภาพยิ่งไม่มี อยากให้เราเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน ที่ได้พูดคุยกัน อยากให้มีบริการสุขภาพให้กับกลุ่มนี้” 

เสียงสะท้อนจากหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสนับสนุน LBT 101 หรือ Group Support LBT 101 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ L-B-T (Lesbian-Bisexual-Transgender)  ซึ่งจัดกระบวนการโดย เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON- Health & Opportunity Network) สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ในเวลาเพียงหนึ่งวันของการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม LBT  ที่อยู่ในพื้นที่พัทยาและกรุงเทพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  หลายคนไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อน  บางคนก็มีเพื่อนชักชวนเข้ามาร่วมวงพูดคุย แต่ถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  แต่เมื่อเริ่มกระบวนการพูดคุยแนะนำตัวกันสั้นๆ และเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนผ่านคำถามที่ทีมกระบวนกร บงกช บุญประสาน  สุมาลี โตกทอง และสนธยา ห้วยหงส์ทอง ตั้งคำถามให้เข้าไปพูดคุยกับเพื่อนๆ  

แม้จะเป็นคำถามสั้นๆ ตามโจทย์ของกระบวนการ แต่หลังจากนั้นก็ทำให้ทุกคนเข้าสู่วงพูดคุยแลกเปลี่ยนและเปิดใจให้กันมากขึ้น  จากคำถามง่ายๆ ที่เป็นเรื่องทั่วไป ก็เป็นคำถามที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ  เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม เริ่มมองเห็นว่า บางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเพศนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งยากที่จะถามใคร และยากที่จะตอบเมื่อมีคนมาตั้งคำถาม 

Group Support LBT 101

“พอเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ เราก็จะระมัดระวังในการพูดถึง  ถ้าโดยทั่วไปเราเจอคำถามแบบนี้ เราก็จะไม่มั่นใจว่าคนถามต้องการอะไร และเราควรตอบแบบไหน หรือถ้าให้เราไปถามคนอื่น เราก็ต้องคิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร” 

คำถามหรือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศหรือความเป็นเพศ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง และเมื่อไม่พูดถึงก็มักนำไปสู่ความไม่เข้าใจหรือความไม่รู้  บางครั้งแม้แต่การถามตัวเอง บางคนก็ไม่อยากตั้งคำถาม  และจากกระบวนการนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมบอกถึงความต้องการ สิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น  เรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ สุขภาพทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย  ความรักความสัมพันธ์ในชีวิตคู่  การใช้ชีวิตคู่ของเพศเดียวกัน  รวมไปถึงหากบางคนต้องการแปลงเพศต้องทำอย่างไร 

ในการจัดกระบวนการครั้งนี้ กระบวนกรได้ชวนทำความเข้าใจกรอบเรื่องเพศในสังคมไทยก่อน  เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมเราถึงไม่อยากตั้งคำถามหรือตอบคำถามเรื่องเพศว่า มันมาจากค่านิยมแบบไหน กรอบความคิดของสังคมที่หล่อหลอมมาเป็นอย่างไร โดยระดมคำตอบจากทุกคนว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น บทบาท หน้าที่ อาชีพ ความคาดหวัง ที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงและเพศชาย  ความเป็นหญิงและความเป็นชายเป็นอย่างไร 

“ทำให้เราเห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิงในสังคม”
 
“เห็นว่าความคาดหวังต่อผู้หญิงส่วนใหญ่ให้ทำหน้าที่อยู่แต่ในบ้าน ในครอบครัว หรือแม้แต่ในครัว ในขณะที่ผู้ชายออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านได้ ทำอะไรก็ได้ ไม่ค่อยมีเรื่องที่ห้ามทำ”   
 
“ความก้าวหน้าในการทำงานผู้ชายมีโอกาสมากกว่า ได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง โดยอ้างว่าผู้ชายเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำมากกว่า บางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับความสามารถในการทำงาน”

ขณะเดียวกันในสังคมปัจจุบันนั้นไม่ได้มีเพียงเพศหญิงและเพศชาย  หากแต่ความหลากหลายทางเพศ หรืออย่างที่หลายคนเคยได้ยินคำเรียกว่า LGBTIQNA++  ที่บ่งบอกว่ากรอบเพศได้ขยายกว้างขึ้นจากความคิดและความเชื่อเดิมๆ ว่ามีเพียง 2 เพศ คือ เพศหญิงและเพศชาย  ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป  การทำความเข้าใจกับความเป็นเพศของ L-B-T  จึงถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในกระบวนการเรียนรู้ของวงนี้ 

 

หลังจากผู้เข้าร่วมระดมความคิดความเข้าใจต่อ ลักษณะ ภาพลักษณ์ บทบาท หน้าที่ ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังเกี่ยวกับ L-B-T แล้ว  กระบวนกรได้สรุปในตอนท้ายว่า 

L-B-T ต่างก็ผ่านกระบวนการหล่อหลอมเรื่องความเป็นเพศแบบชายหญิงเข้ามาในตัวเอง แม้ว่า L-B-T จะมีเพศวิถีลักษณะนอกกรอบเพศก็ตาม  แต่ก็ยังมีคาดหวังในความสัมพันธ์แบบที่เกิดขึ้นในขั้วตรงกันข้าม  เช่น ดี้ต้องเป็นแฟนกับทอมเท่านั้น  คนที่รักได้ทั้งสองเพศมักมีแฟนได้ทั้งเพศกำเนิดหญิงที่ต้องเป็นทอมและคนเพศกำเนิดชายที่เป็นรักต่างเพศ   อีกทั้งคนรักได้ทั้งสองเพศเป็นพวกลังเล/ไม่ตัดสินใจ และคนเป็นทอมก็ต้องชอบกับดี้และกับผู้หญิง” 

 

จากนั้นวงสนทนาได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคนที่เคยเจอปัญหาหรือได้รับผลกระทบจากความเป็น L-B-T  ทั้งที่เคยประสบพบเจอด้วยตัวเอง หรือผ่านการรับรู้จากคนรอบข้างและคนในสังคม  จากการคุยกันสรุปได้ว่า

    • ผลกระทบทางกาย – ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน แฟนผู้ชายนำโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาติดกับคู่ แฟนผู้หญิงทำงานกลางคืน  ติดเชื้อจากการทำงานบริการกับแขก 

    • ผลกระทบทางใจ -ถูกดูถูก ทำร้ายจิตใจ พูดถึงในทางที่ไม่ดี  ถูกกีดกันไม่ให้คบกัน  ถูกบังคับแต่งงานทำให้มีภาวะเครียด ซึมเศร้า

    • ผลกระทบอาชีพ – ไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ทำให้บางคนต้องไปขายบริการ  ทอมบางคนถูกใช้งานที่หนักกว่าด้วยเหตุผลว่า “ก็อยากเป็นผู้ชายไม่ใช่เหรอ”  

    • ผลกระทบศาสนา – บางศาสนาไม่ยอมรับและกีดกันไม่ให้ร่วมพิธีทางศาสนา 

    • ผลกระทบจากกฎหมาย – จดทะเบียนไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่ได้รับสิทธิในการมีลูก ไม่มีสิทธิการรักษาของคู่ชีวิตในระบบราชการ  กู้ร่วมหรือทำประกันชีวิตไม่ได้  เปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้ 

    • ผลกระทบด้านสุขภาพ – ถ้าคู่ชีวิตป่วยเข้าโรงพยาบาล เซ็นต์ยินยอมให้คู่ไม่ได้ 

    • ผลกระทบสุขภาพทางเพศ
          • ไม่กล้าตรวจภายใน เพราะเสี่ยงต้องเจอคำพูดเหยียดหยาม ถูกละเมิดสิทธิ เช่น สถานพยาบาลพานักศึกษาแพทย์มาเรียนรู้เรื่องการตรวจภายในกับคนไข้ โดยไม่ได้มีการแจ้งขออนุญาต ทำให้มีประสบกาณ์ไม่ดีและไม่อยากไปรับบริการอีกเลย 

          • อาย ไม่อยากให้หมอเห็นเพราะขนาดแฟนยังไม่กล้าให้ดู 

          • มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเนื่องจากการไปใช้ฮอร์โมนมาก ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน

          • เสี่ยงต่อการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ 

          • ขาดความรู้เรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพทางเพศ  และไม่รู้ว่าต้องหาความรู้จากไหน 

          • ผลกระทบทัศนคติ – ถูกตัดสินว่า คบกันไม่ยาว เพราะไม่มีลูกด้วยกัน ยกมรดกให้กันไม่ได้ 

          • ไม่มีบริการเฉพาะสำหรับ LBT เลย รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจว่าจะมีคนที่เข้าใจ 

     

    รู้สึกดีที่ได้เจอ : Group Support LBT 101

    Group Support LBT 101

    เมื่อกลุ่มสนทนาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนผู้เข้าร่วมรู้สึกดีที่ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปัน เกิดความมั่นใจ เชื่อใจ และเล่าเรื่องราวหลายๆ อย่างให้วงสนทนาได้รับรู้ ทั้งปัญหาความไม่สบายใจ ความรู้สึก หรือความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง และอยากเรียนรู้อยากเข้าใจ  อีกทั้งรู้สึกว่า 

    “ชอบบรรยากาศของความเป็นเพื่อน การเล่าสู่กันฟัง ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและความรู้บางอย่างที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเจอ ได้เปิดโลกทัศน์”

     

     “อยากให้มีกลุ่มแบบนี้ กิจกรรมแบบนี้มานานแล้ว ได้พูดคุยกับคนที่เข้าใจ ไม่ตัดสินว่าเราเป็นอะไร รับฟังเราและเราก็ได้รับฟังความคิดของคนอื่น ทำให้เข้าใจหลายเรื่องมากขึ้น”

    ในตอนท้าย กระบวนการได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความต้องการบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ L-B-T  ซึ่งทางเครือข่ายสุขภาพและโอกาส หรือ HON  ซึ่งเดิมได้จัดบริการด้านสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่ม Transgender women หรือกะเทยในพื้นที่เมืองพัทยา  กำลังจะทดลองจัดบริการด้านสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับกลุ่ม L-B-T  ในพื้นที่พัทยา โดยเริ่มจากกลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ และอยากรู้ถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

    ผู้เข้าร่วมกระบวนการ Group Support LBT 101 ต่างช่วยกันบอกถึงความต้องการบริการด้านสุขภาพต่างๆ ดังนี้ 

    – การบริการให้คำปรึกษา เพื่อลดภาวะความเครียดและตอบคำถามเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ และอยากเน้นให้มีระบบออนไลน์ด้วย เพื่อเป็นระบบที่ที่มีคนคุยสื่อสาร 2 ทาง โดยไม่ต้องเห็นหน้า แต่ขอให้มีคนรับฟัง มีท่านหนึ่งสะท้อนว่า “หลายคนอยู่ระหว่างมีความสับสน ตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ เช่น การยืนยันรสนิยมที่ไม่ตัดสินว่าเราผิดปกติ แนวทางการรับมือกับคนทั่วไปที่อาจจะตีตรา กลั่นแกล้ง เราไม่รู้จะไปปรึกษาใคร จะรับมือกันเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร ทำให้บางคนอาจหาทางออกด้วยการใช้ความรุนแรง หรือ บางคนไม่สนใจ ปล่อยมันไป”


    – มีช่องทางการสื่อสาร (Plat from) เพื่อให้เป็นการสื่อสารสองทาง ต้องการ @line ถ้าเป็นเพจกลัวคนอื่นเห็น หรือ in box หรือ messenger  ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีคนอื่นรับรู้ 

    อยากได้ Application เฉพาะเพื่อเข้าถึงการรับบริการและการเช็คอาการทางสุขภาพเบื้องต้น ทั้งปัญหาสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต 


    – มีหน่วยงานที่มีความเข้าใจ สามารถให้ความช่วยเหลือให้เราเข้าถึงบริการ หรือเข้ามาแทรกแซง กรณีเกิดปัญหาหรือถูกใช้ความรุนแรง เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของ  LBT 

     

    – บริการตรวจภายใน  ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรที่มีความเข้าใจ LBT เพราะมีความมิติที่ละเอียดอ่อนกว่า ไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกตั้งคำถามเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหรือผู้หญิง 

    อยากได้เจ้าหน้าที่ผู้หญิง หรือถ้าเป็นเพศอื่น ๆ ต้องเชื่อใจได้ว่าจะมีความเข้าใจ ไม่มีทัศนคติลบ และอยากได้ผู้ให้บริการคนเดิมที่เข้าใจ เป็นคนดูแลสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนหน้าบ่อย

    – บริการการตรวจสุขภาพทางเพศ ด้านเอชไอวี test ฯลฯ เพราะที่พัทยามีบริบทเฉพาะ เช่น การมีคู่ที่ทำงานบริการทางเพศ และต้องให้บริการกับผู้ชายและแขกไม่ยอมป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยง ยิ่งจำเป็นต้องละเอียดอ่อนต่ออัตลักษณ์ทับซ้อน จากการมีคู่เพศเดียวกันที่ไปทำงานบริการทางเพศกับแขกผู้ชายและติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์  จะมีความกังวลเรื่องการรักษาความลับมาก

     

    – ให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ของ L-B-T โดยมีหน่วยบริการที่ให้บริการตรวจและรับฮอร์โมนที่เข้าถึงได้ง่าย 

    – อยากได้รับการรับรองทางกฎหมาย เพื่อให้ LBT เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการจากรัฐ (เพราะเราจ่ายภาษีเหมือนกับคนอื่นๆ) 

     

    ในเบื้องต้น  HON ได้แนะนำบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง  หากกลุ่ม L-B-T ต้องการใช้บริการในเบื้องต้น ได้แก่

     

      • คลินิกพัทยารักษ์: เป็นศูนย์ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (พัทยา)
      • บริการสายด่วน กรมสุขภาพจิต  1323 
      • บริการสายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663

    การจัดกระบวนการ Group Support LBT 101 สำหรับกลุ่ม L-B-T ครั้งนี้  ทำให้นำไปสู่การพูดคุยกันถึงการรวมกลุ่มและการจัดกิจกรรมแบบนี้อีก เพื่อให้เพื่อนๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ ได้เข้ามารวมกลุ่มกัน 

    ทาง HON หวังให้กิจกรรมนี้เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม L-B-T ให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มความเป็นชุมชนที่เกื้อกูลกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว การได้สนทนาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันจะเป็นการเติมพลังให้แก่กัน ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคของแต่ละคนไปได้ด้วยพลังกลุ่ม มีพื้นที่และมีตัวตนและมีพลังมากพอที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน