รู้ทันอาการ homophobia : ในโลกใบนี้ที่มีอัตลักษณ์ความหลากหลายมากมาย เกินกว่าจะจับใส่กล่องได้เพียง 2 ใบว่าเป็น “ผู้ชาย” กับ “ผู้หญิง” ยังมีกล่องใบอื่นๆ และยังมีนอกกล่องนอกกรอบ ที่อาจจะเกินไปจากการรับรู้ของเรา
อีกทั้งไม่ได้มีเพศวิถีเดียวคือรักต่างเพศ แต่มีเพศวิถีที่หลากหลายอีกเช่นกัน
และไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน หรือเพศวิถีแบบใด ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะต้องเกลียดต้องกลัว ตั้งป้อมรังเกียจ ชังน้ำหน้ากัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักมักจี่
การเปิดรับความหลากหลาย เปิดให้เรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่ไม่ว่าใครก็ตาม ก็ไม่ต้องไปตัดสินล่วงหน้า ตีตรา ด่าทอ ล้อเลียน ดูแคลน กีดกัน เลือกปฏิบัติ ทำร้ายร่างกาย เพราะการทำแบบนั้น ก็เท่ากับว่า คนคนนั้นอาจจะมีอาการป่วยทางใจ ที่เรียกว่า โฮโมโฟเบีย ( Homophobia )
หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่า บางการกระทำต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น เข้าข่ายอาการของ โฮโมโฟเบีย ( Homophobia ) หรือความกลัวการเข้าใกล้คนรักเพศเดียวกัน บางคนแสดงอาการโดยไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำไป ว่าตัวเองเป็นอะไร และเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง จึงไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา ทั้งๆ ที่เป็นอาการป่วยทางใจในรูปแบบหนึ่งเลยทีเดียว
การสังเกตอาการโฮโมโฟเบีย จะดูได้จากลักษณะการแสดงออก ได้แก่
- ถอยหนีและโจมตี บางคนอาจแสดงท่าทีรังเกียจ อย่างชัดเจน
- ปฏิเสธที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในทุก ๆ กรณี
- บางคนมีการแสดงออกที่รุนแรงอย่างการด่าทอ ใช้คำหยาบคาย ในการเรียกกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
- แสดงพฤติกรรมเชิงลบต่าง ๆ ให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่หรือไม่มีคุณค่า
- กีดกันออกจากกลุ่ม ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย
ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอล เอ. แจนนินิ จาก University of Rome Tor Vergata กล่าวว่าการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพบางอย่าง และอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางใจได้ ถ้ามีความรุนแรงรวมอยู่ด้วย เขามองเห็นความเชื่อมโยง ของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันกับ ภาวะโรคจิต (psychoticism) กลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ และการผูกพันกับพ่อแม่ ที่นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงที่อยู่ในจิตใต้สำนึก
นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เกิดการแสดงออก ถึงอาการโฮโมโฟเบีย ซึ่งถ้าหากใครที่รู้และเท่าทัน ก็จะสามารถทำความเข้าใจและไม่แสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมาได้
ปัจจัยที่กระตุ้นโฮโมโฟเบีย เช่น
- วัยเด็กอาจเติบโตมาในครอบครัวที่มีแบบแผนเคร่งครัดมาก ๆ ในเรื่องเพศ
- อยู่ในสังคมที่มีการแบ่งแยกบทบาทของชายหญิงอย่างชัดเจน
- บางคนอาจมีประสบการณ์เลวร้ายจากคนเพศเดียวกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนกลายเป็นความหวาดระแวง กลัวสายตาคนรอบข้าง กลัวการล้อเลียนดูถูก
รู้ทันโฮโมโฟเบีย ( Homophobia ) รู้ทันตัวเอง
บางคนอาจจะมองว่า อาการโฮโมโฟเบีย เกิดขึ้นกับคนที่เป็นเพศชายและหญิง ที่มีเพศวิถีรักต่างเพศเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าคนรักเพศเดียวกันจำนวนหนึ่ง ก็เป็นโฮโมโฟเบียได้เช่นกัน ทั้งนี้เกิดจากความรู้สึก ที่ทับถมกันที่เป็นทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ ว่ามีเพียงสองเพศเท่านั้น แต่มารู้ตัวภายหลังว่าตนมีรสนิยมชื่นชอบคนที่เป็นเพศเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน ขัดแย้งภายใน ไม่ชอบและไม่เข้าใจตัวเอง ไปจนถึงรู้สึกผิดอยู่ภายในใจตัวเอง อาการนี้อาจไม่ส่งผลต่อคนอื่นแต่ส่งผลต่อสุขภาพใจตนเอง
ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง การปรับทัศนคติ การมองโลกให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ตัดสิน การออกจากกรอบ แบบแผน หรือกรงขัง ค่านิยมของสังคมที่กดทับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความเชื่อค่านิยมนั้นมีรากดั้งเดิมมาจากอะไร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
สำหรับบางคนการเปิดรับอาจจะยังทำได้ยากแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองมีทัศนคติอย่างไร แสดงออกต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร ก็ยังสามารถปรับตัวปรับใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแสดงออก ไม่ให้พัฒนาไปเป็นอาการป่วยทางใจ แสดงออกถึงอาการของโฮโมโฟเบียจนต้องเข้ารับการบำบัดรักษา
การรู้และเท่าทันอาการของคนเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ จะช่วยให้เรารู้จักวางตัว แสดงออกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม เคารพและให้เกียรติทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน
#โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับLBT #LBTWellbeing
#ยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันคนข้ามเพศและคนรักสองเพศ #ไอดาฮอท #IDAHOT #โฮโมโฟเบี

หมายเหตุ : โฮโมโฟเบีย หรือ อาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือรักร่วมเพศ (อังกฤษ: Homophobia) คือการกลัวอย่างไม่มีเหตุผล การเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติ ต่อบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน. และยังอธิบายถึงความกลัวหรือการดูถูกเลสเบียนและเกย์ รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาจากความรู้สึกเกลียดชัง ในบางแห่งจำกัดความโดยไม่มีคำว่า “อย่างไม่มีเหตุผล” และดูมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมมากกว่าแรงกระตุ้น
คำว่า โฮโมโฟเบีย มีใช้ครั้งแรกในยุคสมัยใหม่ในปี 1971 ถึงแม้ว่าคำนี้จะเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ก็ตาม เป็นคำที่แสดงความเห็นกับพวกแสดงความเหยียดหยามกับกลุ่มที่มีทัศนะคติต่างกัน และกับนักวิจัยหลายคนเสนอความหมายของคำนี้อีกอย่างว่าเป็นการอธิบายถึง ความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติ ต่อเกย์ เลสเบียน หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
โดยทั่วไปแล้วโฮโมโฟเบียจะพบในกลุ่มคนรักต่างเพศ โดยนักจิตวิทยาบางส่วนเชื่อมโยงโฮโมโฟเบียกับความกลัวที่จะรักเพศเดียวกัน ซึ่งอาจมีผลมาจากแบบตายตัวทางเพศในครอบครัว ซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงอุทิศตัวต่อสามีและลูก เป็นความเชื่อฝังใจต่อบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมตามครรลองทางธรรมชาติ และผู้ที่ยึดติดดังกล่าวอาจรู้สึกถึงการถูกคุกคามของการมีอยู่ของเกย์และเลสเบียน เพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะทำให้บทบาททางเพศที่พวกเขาคิดว่าถูกต้องตามธรรมชาติเกิดความสับสนและอาจรวมถึงการกลัวการรักเพศเดียวกัน
ซึ่งการเป็นโฮโมโฟเบียส่วนใหญ่อาจมาจาก กลุ่มบุคคลที่ยึดถือบทบาททางเพศแบบตายตัว และกลุ่มคนที่เคร่งครัดตามคัมภีร์หรือคำสอนทางศาสนา นอกจากนี้แล้วการเป็นโฮโมโฟเบียอาจเกิดจากชายที่รักต่างเพศบางคนเกิดความกลัวหรือหวาดระแวงว่าจะถูกเพศชายด้วยกันทำล่วงละเมิดทางเพศ เช่นการลวนลาม หรือการข่มขืนทางทวารหนัก เป็นต้น ในบางกรณีการที่ผู้ชายบางคนมีความกลัวการที่จะถูกล้อเลียน ถูกเกลียดชัง หรือถูกสังคมตัดสินว่าเป็นเกย์นั้นก็อาจถูกจัดว่าเป็นโฮโมโฟเบียอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีคนที่รักเพศเดียวกัน ที่เป็นโฮโมโฟเบีย เป็นอันเนื่องมาจากทัศนคติเชิงลบที่สังคมมีต่อกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน จึงทำให้พวกเขามีความรู้สึกเกลียดชังตัวเองลึก ๆ เนื่องจากถูกหล่อหลอมเลี้ยงดูมาจากทัศนคติและสังคมแบบนี้
โดยลักษณะที่อาจแสดงให้เห็นของบุคคลที่มีอาการโฮโมโฟเบีย เช่น การเรียกคนที่รักเพศเดียวกันในทางลบ เช่นคำว่า ตุ๊ด , แต๋ว , ตีฉิ่ง , ฟักทองบด , ผิดเพศ , ขุดทอง และ สายเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการกีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกจากสังคม , หน้าที่การงาน , การกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆในสังคม , การคุกคามทางวาจา , การลดทอนความเป็นมนุษย์ , การใช้วาจาสบประมาท เยาะเย้ย ล้อเลียน กลั่นแกล้ง ดูถูก ด่าทอ หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
ในสหรัฐอเมริกาเคยมีเหตุการณ์ที่กลุ่มบุคคลที่มีอาการโฮโมโฟเบียได้ทำลายเอกสารหรือหนังสือ ที่ผู้เขียนมีชื่อหรือนามสกุลว่า Gay หรือในชื่อหนังสือมีคำว่า Gay โดยในกรณีดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มของชายรักชายเลยทั้งสิ้น