ความเท่าเทียมในทางปฏิบัติ  สิทธิมนุษยชนของ LBQ

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เพศ แต่จากการสำรวจข้อมูลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่ม LBQ (เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เควียร์) ยังคงพบว่าคนกลุ่มนี้ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม


ในกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อสุขภาวะของ LBQ ได้นำประเด็นความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีการเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิมนุษชน รวมไปถึงกลไกการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ LBQ ควรรู้และนำไปปฏิบัติได้


สำหรับความเข้าใจพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LBQ นั้น เป็นเรื่องของการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมในทุกด้านของชีวิตโดยปราศจากการเลือกปฎิบัติหรือการถูกละเมิด เช่น 

     – สิทธิในการมีชีวิตที่ปลอดภัย หมายถึง ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้โดยปราศจากการถูกคุกคาม หรือการใช้ความรุนแรง อันเนื่องมาจากความเป็นเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ 

     -สิทธิในการแสดงออกถึงตัวตน หมายถึงสามารถแสดงตัวตนทางเพศได้โดยปราศจากความกลัวหรือการกีดกัน 

     -สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา หมายถึงรัฐรับรองสิทธิการศึกษาให้เป็นการศึกษาฟรีที่ทุกคนต้องได้รับ 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

     -สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งและที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐ และการเป็นสิทธิที่ต้องได้รับการบริการที่เหมาะสมโดยไม่มีอคติ

     -สิทธิในความเท่าเทียมทางกฎหมาย  หมายถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การคุ้มครองในที่ทำงาน การแต่งงาน การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

 

ทั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LBQ ซึ่งมีการบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องเผชิญ ได้แก่

 

      -การเลือกปฎิบัติ  หลายคนถูกเลือกปฎิบัติในด้านต่างๆ เช่น การถูกปฏิเสธงาน เลือกปฎิบัติในที่ทำงาน การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่เท่าเทียม การถูกปฏิเสธสิทธิในครอบครัว การถูกปฏิเสธในการแสดงออกถึงตัวตน

 

 

      -ความรุนแรงและการคุกคาม  หลายคนตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง เช่น การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถูกกลั่นแกล้ง เสียดสี ว่าร้าย

 

 

      -การตีตราในสังคม ในบางพื้นที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังต้องซ่อนตัวและไม่สามารถแสดงตัวตนได้เนื่องจากอคติทางสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลให้รู้สึกเก็บกด มีอาการซึมเศร้า

 

 

      -กฎหมายและนโยบายที่ไม่เท่าเทียมหรือกฎหมายยังใช้ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ บางครั้งอคติทางเพศก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายนั้นได้

 

 

แม้ว่าในปัจจุบัน คนจำนวนมากมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ  แต่การยอมรับของคนในสังคมก็ยังเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ  หลายคนต้องประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิ ทำให้ยังไม่เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม 

ขบวนการเคลื่อนไหว LBT ในเมืองไทย

กลไกการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ และควรทำหน้าที่ในเชิงปฏิบัติอย่างเต็มที่ ต้องไม่เป็นกลไกที่เพิกเฉยต่อความทุกข์ของผู้ที่ถูกละเมิดและถูกเลือกปฏิบัติ 

กลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ 

กฎหมายและการบังคับใช้  อาทิ 

– ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการระบุถึงความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ

– ในกฎหมายแรงงาน มีการห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือความหลากหลายทางเพศ

– ในกฎหมายอาญา  มีบทบัญญัติที่คุ้มครอง LGBT จากการถูกคุกคามหรือใช้ความรุนแรง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ 

      – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  มีบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ

      – กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ดูแลประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม

เครือข่ายภาคประชาสังคม

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน LGBT ทั้งในด้านการรณรงค์ การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และการช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ

การศึกษาและการส่งเสริมความตระหนักรู้ 

การบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศในหลักสูตรการศึกษา และการฝึกอบรมในองค์กรต่างๆ

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของกฎหมาย และในทางด้านสังคม แต่ก็ยังพบเห็นได้โดยทั่วไปว่า แม้จะมีการยอมรับความหลากหลายในบางบริบท แต่อคติ การไม่ยอมรับ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ยังคงมีเกิดขึ้นทั้งในสถาบันครอบครัว สถานศึกษา และในที่ทำงาน ในบางกรณี การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิก็ยังขาดความเข้มงวดและบางครั้งผู้เสียหายไม่กล้าเรียกร้องสิทธิของตนเอง 

ดังนั้น ในกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม LBQ จึงเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม