เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being

เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being

“บ้านเป็นปิตาธิปไตย พี่ชายเป็นใหญ่ บอกแต่เป็นหญิงต้องทำตัวให้เป็นหญิง”

 

“คิดถึงแม่มาก เมื่อไหร่จะได้ไปเจอ อยากอยู่ด้วยกันอีก”

 

“สังคม ครอบครัว กดดันเรามากเกินไป ไม่เชื่อใจและคอยชี้แนะชีวิตมากไปจนไม่กล้าใช้ชีวิต” 

 

เสียงของผู้เข้าร่วมซุ้มกิจกรรมของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ LBT หรือ LBT Well Being ในกิจกรรมรณรงค์เพื่อการมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ  หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เบิกบานเฟส” (Joy Spiritual Wellbeing Fest)  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา  สะท้อนถึงความวิตกกังวล ความทุกข์ที่กลุ่ม LBT รู้สึก

กิจกรรมของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้เปิดพื้นที่ให้กลุ่ม  L – Lesbian  B – Bisexual และ T – Transman  ได้มีโอกาส สร้างการรับรู้ทางสังคมเกี่ยวกับการมีอยู่ของ LBT ในสังคมไทย, สนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LBT ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้มีส่วนร่วมกิจกรรมในงาน  และ จัดกิจกรรมกลุ่มสนับสนุน (Group support) LBT เพื่อทำความรู้จักกันและสะท้อนความรู้สึก สิ่งที่เรียนรู้จากการร่วมกิจกรรม

ความรู้สึกดังกล่าวสอดคล้องกับ รายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ป้ญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม  LBT   โดย ดาราณี ทองศิริ ที่พบว่า กลุ่ม LBT มีความเสี่ยงสูงในด้านสุขภาพจิตมากกว่าหญิงรักต่างเพศ เช่น เสี่ยงต่อความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การทำร้ายตนเอง ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล สาเหตุหนึ่งมาจากการถูกเลือกปฎิบัติ เช่น การไม่ได้รับการยอมรบจากครอบครัว  การถูกเพิกเฉย ฯลฯ  ดังจะเห็นจากการสะท้อนความรู้สึกการการเข้าร่วมซุ้มกิจกรรมงานในเบิกบานเฟส ที่ผ่านมา

สันติภาพบนสายรุ้ง : การทำงานด้านสันติภาพในกระบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTIQ+

เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being

ในงาน เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being หรือ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ LBT  ได้มีโอกาสสะท้อนสถานการณ์ LBT ในการเสวนาเปิดงานเรื่อง “สันติภาพบนสายรุ้ง : การทำงานด้านสันติภาพในกระบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTIQ+”

 

คุณทฤษฎี สว่างยิ่ง เครือข่ายสุขภาพและโอกาส ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการทำงานกับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ใช้สารเสพติดในพื้นที่พัทยา และล่าสุดมีโอกาสทำงานกับกลุ่ม Lesbian Bisexual และ ทอม Transman

ทฤษฎีกล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่มนี้ในเชิงสิทธิและสวัสดิการในสังคมไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า มีการพูดถึงน้อยมาก และดูเหมือนไม่มีตัวตนในพื้นที่ทางสังคม ทำให้การเข้าถึงและเข้าใจปัญหาสุขภาพก็เป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและขาดบริการที่ละเอียดอ่อนและสอดคล้องกับกลุ่ม

 

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้มีการสนทนากับ LBT ที่ทำงาน Rider ยิ่งทำให้เกิดข้อค้นพบว่า นอกจากความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุจากการต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อสร้างรายได้แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงกับในระบบอนามัยเจริญพันธุ์ จากการกลั้นปัสสาวะ ปัญหาสุขอนามัยในห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของ Rider ที่มีเพศกำเนิดหญิง

 

ปัญหาที่ LBT มักเผชิญคือ ปัญหาการเข้าห้องน้ำสาธารณะ (บางสถานที่ไม่สะอาดหรือถูกสุขลักษณะ)  การถูกแซวหรือจับจ้องจากอัตลักษณ์ทอม การตั้งคำถาม How to ? และความท้าทายกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงาน และการตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทอมเมื่อต้องเข้ารับบริการสาธารณสุข เป็นต้น

สร้างพื้นที่การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ และรับรู้สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องของชุมชน LBT   

เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being

คุณสนธยา ห้วยหงส์ทอง เจ้าหน้าที่ให้การปรึกษาเพจ LBT Wellbeing นำทีมแกนนำอาสาสมัคร จำนวน 4 คน ประจำหน่วยที่ตั้ง ภายใต้อาคารหน้าเวที เพื่อทำกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในประเด็น LBT กับผู้ร่วมงานที่สนใจ

 

ภายในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบด้วย  กงล้อคำถาม-คำตอบ  พื้นที่แบ่งปันความสุข โดยการจัดพื้นที่ว่างสำหรับการเขียนแบ่งปันบนกระดาน และกล่องโอบรับความทุกข์และความต้องการ เป็นการเขียนข้อความภายหลังร่วมกิจกรรม

 

กิจกรรมกงล้อตอบคำถาม มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการปรึกษาหรือทำกิจกรรม เกิดการทบทวนความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง LBT ในมิติการนิยามความหมายในทางสังคม สถานการณ์ด้านสุขภาพ ความสัมพันธ์ ความต้องการบริการสุขภาพ ผลกระทบจากสื่อ สิทธิและสวัสดิการ โดยมีผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้แบ่งปันข้อมูลในแต่ละคำตอบ

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะหมุนกงล้อ เมื่อกงล้อหยุดลง จะมีเครื่องหมายชี้ไปยังคำถามที่หยุดตรงกับลูกศร  เมื่ออ่านคำถามแล้ว ก็จะได้สนทนา แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจหรือมุมมองจากประเด็นคำถามจากกันและกัน 

 

กิจกรรมดังกล่าว เป็นกระบวนการเน้นชวนให้ผู้ใช้บริการหรือผู้เล่นได้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และแบ่งปันความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ไม่มีคำตอบที่ผิดหรือถูก และเพื่อเป็นการเปิดประเด็นสร้างพื้นที่ปลอดภัยอันจะนำไปสู่สัมพันธภาพและการขอข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

LBT 102 และ Group Support เพื่อสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ในสาธารณะในงาน ( เบิกบานเฟส กับ LBT Well Being )

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ LBT ( LBT Well Being ) เชิญกลุ่ม LBT ที่ทำงานในกลุ่ม Rider และ LBT จากเครือข่ายร่วมในกิจกรรมของงาน 10 คน เพื่อมาร่วมเรียนรู้ประเด็นความหลากหลายทางเพศ

 

ทุกคนได้เข้าร่วมในช่วงเสวนาเปิดงานในเรื่อง “สันติภาพบนสายรุ้ง” ซึ่งในการเสวนาได้มีการกล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่ม LBT บนเวที ทั้งนี้ LBT ในโครงการฯ ให้ความเห็นว่า การได้รับฟังการเสวนาที่มีการกล่าวถึง LBT ทำให้รู้สึกถึงการมีตัวตนและได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งรู้สึกว่า ได้เป็นตัวของตัวเอง การเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ในงานรู้สึกว่า ตนมีอิสรภาพในการที่จะเป็นตัวเองได้ รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกมองอย่างตัดสินจากคนอื่น และรู้สึกว่ามีเพื่อน 

 

 

หลายคนสะท้อนว่าการได้เข้ามาร่วมกิจกรรมรณรงค์ที่กล่าวถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องปกติในความเป็นมนุษย์ ทำให้รู้สึกมั่นใจในการเป็นตัวเองมากขึ้น และกล้าแนะนำคู่ หรือบอกคนอื่นๆ ได้ว่า คนที่มาด้วยกันว่าเป็นคนรัก  โดยส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ประกอบอาชีพด้านอื่น ๆ ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมงานแบบนี้มาก่อน

 

ในกระบวนการกลุ่มได้มี ผู้ชายข้ามเพศ และ Intersex มาร่วมแบ่งปันด้วย 2 คน คือ 

 

คุณอาทิตยา อาษา จากกลุ่ม TransEqual มาร่วมทำความรู้จัก และแบ่งปันประสบการณ์การเป็นผู้ชายข้ามเพศที่ผ่านกระบวนการใช้ฮอร์โมนและผ่าตัดหน้าอกแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงกระบวนการข้ามเพศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องดูแลค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด ตอนนี้พยายามสร้างเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศ ทอม นอนไบนารี่ เพื่อสนับสนุนการสร้างความเท่าเทียมในสังคม

 

คุณพักตร์วิไล สหุนาฬุ กลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ (สุรินทร์) ซึ่งแนะนำตัวว่า เป็นทอมภูธร ที่เพิ่งมารู้ตัวเองในช่วงวัยรุ่นว่า เป็นกลุ่มมีอวัยวะเพศกำกวม หรือ Intersex ซึ่งปัจจุบันนิยามตัวเองว่า ทอม ที่อายุ 60 ปี และอยู่ระหว่างรอคิว การผ่าตัดหน้าอก เพราะรู้สึกไม่อยากมีมาโดยตลอด แต่ไม่มีงบประมาณและขาดการเข้าถึงความรู้และไม่มีหน่วยบริการในพื้นที่

 

คุณทฤษฎี ได้เล่าภาพรวมของโครงการฯ และเชื้อเชิญทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสนับสนุนครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้น และกล่าวขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ก่อนที่จะปิดวงสนทนา

 

การได้เปิดตัวโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับ LBT กับเครือข่ายฯ ในงานเบิกบานเฟสในครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม LBT ได้เปิดตัวเองออกมาด้วยความมั่นใจในตนเองในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริงในกลุ่ม  LGBTQN+